ไซโคพาธ (Psychopaths) เป็นหนึ่งในกลุ่มของโรคบุคลิกภาพผิดปรกติ แบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) ซึ่งคนที่เป็นโรคบุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคมนั้น จะขาดความเห็นใจผู้อื่น และขาดความสำนึกผิดโดยสิ้นเชิง
บุคคลที่ถูกจัดอยู่ในประเภท Psychopaths นั้น เป็นบุคคลที่มีความฉลาดน้อยทางอารมณ์ (lack of emotion) พวกเขาไม่เข้าใจอารมณ์ในแบบที่คนทั่วไปเข้าใจ ไม่เข้าใจความรู้สึกผิด มักจะไม่ค่อยรู้สึกตื่นเต้น และไม่ค่อยรู้สึกถึงความกลัว ประมาณว่า ด้านชากว่าคนทั่วไป ทำให้เสี่ยงต่อการที่พวกเขาจะทำผิดบรรทัดฐานของสังคมหรือกฏหมาย
หรืออีกนัยยะหนึ่ง Psychopaths อาจเป็นเพียงบุคคลที่ไม่มีอารมณ์ความรู้สึก ไม่มีความอาทรต่อผู้อื่น และมักจะไม่ค่อยแสดงออก หรือสามารถเลียนแบบอารมณ์ท่าทางของคนปรกติได้ ทำให้คนทั่วไปเชื่อว่าปรกติ มีเพื่อนฝูง มีงานมีการทำ มีสังคม แต่ถ้าให้ถามกันจริงๆว่าพวกเขารู้สึกอะไรต่อคนรอบข้างไหม พวกเขาก็จะตอบว่าไม่ พวกเขาแกล้งทำไปอย่างนั้นแหละ หากมองจากภายนอก ก็จะมองไม่ออกหรอกว่าเป็นโรคทางจิต ซึ่งถ้าคนที่เป็น Psychopaths ทำการฆาตกรรม ก็มักจะวางแผนอย่างดี ทำอย่างเยือกเย็น และสงบนิ่งมากๆ แต่ในความเป็นจริง พวกเขาก็ไม่ได้ทำความรุนแรงเสมอไป ส่วนใหญ่แทบไม่ได้ก่อความรุนแรงด้วยซ้ำ
คนส่วนมากที่เคยได้ยินคำว่า Psychopaths มักมองว่าผู้ที่เป็น Psychopaths เป็นคนเลวหรือเป็นบ้า เป็นฆาตกรโรคจิตที่สามารถฆ่าคนได้โดยไม่รู้สึกผิด เป็นคนโหดร้ายทารุณ จิตใจโหดเหี้ยมอำมหิต อีกนัยยะหนึ่งคือพวกเขาขาดความรู้สึกผิด (lack of guilt) หรือไม่สามารถรู้สึกผิดได้ (lack of feeling guilty) มันจึงเป็นคุณลักษณะเด่นของบุคคลประเภท Psychopaths ไปแล้ว
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้ช้อมูลว่า ไซโคพาธ เป็นหนึ่งในกลุ่มของโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) โดยมีลักษณะ ขาดความเห็นใจผู้อื่น ขาดความสำนึกผิด ความรู้สึกด้านชาไม่เกรงกลัว ขาดความยับยั้งชั่งใจ เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง
สาเหตุไซโคพาธ
- ทางกาย มีความผิดปกติของสมอง โดยเฉพาะสมองส่วนหน้า และสมองส่วนอะมิกดะลา
- ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง อาจเกิดจากอุบัติเหตุทางสมอง และพันธุกรรม รวมไปถึงความผิดปกติของฮอร์โมน Estosterone, Serotonin และ Cortisol
- ด้านจิตใจ และสังคม ถูกกระทำทารุณกรรมในวัยเด็ก ถูกเลี้ยงดูแบบละเลย เพิกเฉย
อาการ ไซโคพาธ
ผู้ที่มีอาการไซโคพาธจะมีอาการที่สามารถสังเกตได้ ดังนี้
- แสดงออกถึงความรู้สึก และจิตใจที่แข็งกระด้าง ไม่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น
- มีพฤติกรรมตอบสนองต่อความต้องการของตัวเอง โดยไม่สนใจผู้อื่นในสังคม
- มีความผิดปกติทางอารมณ์ และความคิด โดยเฉพาะเมื่อต้องเข้าสังคม
- มักกระทำความรุนแรงซ้ำ ๆ และมีความเสี่ยงที่จะก่ออาชญากรรมได้
การรักษา ไซโคพาธ
ไซโคพาธเป็นหนึ่งในภาวะที่รักษาได้ยาก และมักมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี มักไม่ร่วมมือกับการรักษา การทำจิตบำบัดจึงได้ประโยชน์ค่อนข้างน้อย
อย่างไรก็ตาม สามารถทำการรักษาได้โดย
- รักษาด้วยยารักษาโรคทางจิตเวช
- ปรับพฤติกรรม โดยเน้นพัฒนาในกิจกรรมที่สนใจในทางที่ดี และให้รางวัลเมื่อกระทำพฤติกรรมดี
- ไม่ควรลงโทษ เพราะไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้ เนื่องจากอาการด้านชาทางอารมณ์
หากพบบุคคลที่เข้าข่ายอาการไซโคพาธ ควรแนะนำให้พบแพทย์ เพื่อตรวจเช็กอาการให้แน่ใจ และรีบเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องโดยเร็วที่สุด