มะเร็งกระดูกอ่อน

มะเร็งกระดูกอ่อน หรือ คอนโดรซาร์โคมา (Chondrosarcoma)คือ โรคมะเร็งที่เกิดจากเซลล์กระดูกสร้างกระดูกอ่อนมากเกินปกติและสร้างตลอดเวลา โดยร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโต/การแบ่งตัวรวมถึงการสร้างกระดูกอ่อนของเซลล์เหล่านี้ได้ จึงเกิดเป็นก้อนเนื้อมะเร็งขึ้น กล่าวคือ เซลล์มะเร็งเหล่านี้จะรุกราน/ลุกลามทำลายกระดูกชิ้นที่เกิดโรคจนเสียหายทำงานไม่ได้ และรุกราน/ลุกลามเข้าสู่อวัยวะข้างเคียง, ต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง, ในที่สุดจะแพร่กระจายทางกระแสเลือด/โลหิตเข้าสู่อวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ที่พบบ่อยคือ สู่ปอด นอกจากนั้นยังสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ระบบน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองต่างๆได้ทั่วร่างกายเช่นกัน

มะเร็งกระดูกอ่อนหรือคอนโดรซาร์โคมา เกิดได้กับกระดูกทุกชิ้นในร่างกายแต่พบบ่อยที่ กระดูกเชิงกราน รองๆลงไปคือ กระดูกต้นขา ซี่โครง กระดูกต้นแขน กระดูกขา และกระดูกสะบัก

มะเร็งกระดูกอ่อนหรือคอนโดรซาร์โคมา เป็นมะเร็งพบทั่วโลก แต่พบน้อย ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ พบทั้งในเพศชายและเพศหญิง เพศชายพบบ่อยกว่าเพศหญิงเล็กน้อย และพบทุกวัยรวมถึงในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) แต่มักพบในวัย 40-50ปีขึ้นไป

เนื่องจากเป็นโรคพบน้อย สถิติเกิดของมะเร็งกระดูกอ่อนหรือคอนโดรซาร์โคมามักรายงานรวมอยู่ในมะเร็งกระดูก(Bone cancer หรือ Bone sarcoma) ในประเทศไทยรายงานรวมอยู่ในมะเร็งกระดูกทั้งหมดเช่นกัน ซึ่งรายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติไทยปี ค.ศ 2018 พบมะเร็งกระดูกในเพศชาย1.4 รายต่อประชากรชายไทย1แสนคน และพบในเพศหญิง 1.3 รายต่อประชากรหญิงไทย1แสนคน

สาเหตุ มะเร็งกระดูกอ่อน

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุเกิดแต่มีรายงานว่าปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งกระดูกอ่อนหรือคอนโดรซาร์โคมา ได้แก่

  • ผู้ป่วยที่เคยเป็นมะเร็งในเด็กที่เคยได้รับการรักษาด้วย ยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา(รังสีรักษา-ฉายรังสี-ใส่แร่)
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกชนิดที่พบน้อย ที่เรียกว่า โรคพาเจ็ทกระดูก (Paget disease of bone คือ โรคที่เซลล์กระดูกอักเสบเรื้อรังโดยไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เป็นโรคยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน)
  • ผู้ป่วยเนื้องอกกระดูกชนิดต่างๆที่เกิดจากโรคทางพันธุกรรมซึ่งเป็นโรคพบน้อยมากๆทั้งชนิดพันธุกรรมที่ถ่ายทอดได้ และ ชนิดพันธุกรรมที่ถ่ายทอดไม่ได้
  • ผู้ป่วยเคยเป็นมะเร็งไตในเด็ก (มะเร็งวิมส์)

อาการ มะเร็งกระดูกอ่อน

  • มะเร็งที่กระดูกขา: จะมีผลต่อการเคลื่อนไหวผิดปกติของข้อ/ขาส่วนนั้นๆ
  • หรือถ้าเป็นกระดูกเชิงกราน: อาจมีผลให้ปวดอุ้งเชิงกรานตรงรอยโรคเรื้อรังหรือปัสสาวะบ่อย หรือท้องผูกเรื้อรังผิดปกติจากก้อนมะเร็งกดเบียดทับกระเพาะปัสสาวะและ/หรือลำไส้ใหญ่/ไส้ตรง
  • คลำพบก้อนเนื้อในบริเวณเกิดโรค ก้อนโตค่อนข้างเร็ว ทั่วไปเมื่อผู้ป่วยพบแพทย์ก้อนมักมีขนาดตั้งแต่ 5 ซม. ขึ้นไป
  • เจ็บปวดกระดูกตรงที่เกิดโรค/รอยโรค ปวดเรื้อรัง อาการปวดมักรุนแรงขึ้นช่วงกลางคืนจนรบกวนต่อการนอน
  • รู้สึกแน่นตรงตำแหน่งของก้อน
  • ถ้าก้อนเนื้อโตจนกดเบียดทับระบบน้ำเหลือง จะส่งผลให้เกิดการบวมในอวัยวะส่วนนั้น เช่น ขาบวมทั้งขาด้านเดียวกับโรคเมื่อเกิดโรคที่กระดูกเชิงกราน เป็นต้น

การรักษา มะเร็งกระดูกอ่อน

การรักษาหลักของมะเร็งกระดูกอ่อนหรือคอนโดรซาร์โคมา คือ การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกให้ได้ทั้งหมดทั้งจากการมองด้วยตาเปล่าและจากการตรวจก้อนเนื้อหลังผ่าตัดด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยา บางครั้งอาจจำเป็นต้องตัดกระดูกชิ้นนั้นออกทั้งชิ้น

กรณีผ่าตัดได้ไม่หมด, หรือ ผ่าตัดไม่ได้, หรือกรณีเซลล์มะเร็งเป็นชนิดรุนแรง, และ/หรือมีการแบ่งตัวสูง(G2, G3, หรือG4), แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาต่อเนื่องด้วยรังสีรักษา(รังสีรักษา-ฉายรังสี-ใส่แร่) และ/หรือร่วมกับยาเคมีบำบัด อย่างไรก็ตามมะเร็งกระดูกอ่อนหรือคอนโดรซาร์โคมามีการตอบสนองที่ไม่ดีต่อทั้งรังสีรักษาและยาเคมีบำบัด

ในส่วนยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาทางการแพทย์

[Total: 0 Average: 0]