โรคมะเร็งหลังโพรงจมูก

โรคมะเร็งหลังโพรงจมูก อาจเป็นบริเวณที่หลายคนอาจไม่คุ้นเคยนัก เป็นโรคที่มักพบในประเทศแถบเอเชียบางประเทศ เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง รวมถึงประเทศไทยของเราด้วย สำหรับอุบัติการณ์มะเร็งหลังโพรงจมูกในประเทศไทย พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ 2 เท่า และมักพบในผู้ป่วยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทยโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี 2014 พบผู้ป่วยเพศชาย 1,087 คน เพศหญิง 462 คน คิดเป็นอุบัติการณ์การเกิดโรค 2.62 และ 1.0 คนต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ

สาเหตุ มะเร็งหลังโพรงจมูก

ทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เกิด Nasopharyngeal Carcinoma แต่คาดว่ามีปัจจัยบางประการที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งชนิดนี้ ได้แก่

  • เพศและอายุ โรคนี้มักพบในกลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 30-50 ปี และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
  • ถิ่นที่อยู่ ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเวียดนาม ลาว กัมพูชา หรือประเทศไทย รวมทั้งฮ่องกงและทางตอนใต้ของประเทศจีน อาจมีแนวโน้มเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในแถบอื่นของโลก
  • การรับประทานอาหาร ผู้ที่ชอบรับประทานเนื้อสัตว์หรือเนื้อปลาที่หมักด้วยเกลืออาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งชนิดนี้ เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่าสารเคมีที่ระเหยออกมาจากอาหารดังกล่าวอาจทำให้ดีเอ็นเอถูกทำลายจนเซลล์ในร่างกายเกิดความผิดปกติได้
  • การติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ เป็นไวรัสที่มักทำให้เกิดโรคหวัด หรือโรคโมโนนิวคลิโอสิส ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ผ่านทางสารคัดหลั่งอย่างน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ และไวรัสชนิดนี้อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งหลาย ๆ ชนิดอีกด้วย
  • พันธุกรรม มีงานวิจัยชี้ว่าผู้ที่มีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากอาจได้รับการถ่ายทอดเนื้อเยื่อบางชนิดที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกายและการตอบสนองต่อเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์
  • พฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยง มีงานวิจัยพบว่าการทำงานอยู่ในสถานที่ที่ต้องคลุกคลีกับขี้เลื่อยหรือฟอร์มาลดีไฮด์ รวมถึงการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ อาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้ แต่จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันในด้านดังกล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

อาการ มะเร็งหลังโพรงจมูก

โดยอาการที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ก็จะแตกต่างกันออกไป อาการของมะเร็งหลังโพรงจมูก ได้แก่

  • มีเลือดกำเดาไหลบ่อย
  • การได้กลิ่นลดลง
  • มีอาการคัดจมูกเรื้อรัง
  • มีอาการหูอื้อ
  • หรือในเวลาเป็นมากแล้วก็อาจจะมาพบแพทย์และคลำก้อนที่บริเวณลำคอ

การป้องกัน มะเร็งหลังโพรงจมูก

ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น การสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงการรับควันบุหรี่ การสวมเครื่องป้องกันขณะปฏิบัติงานในโรงงานที่มีสารก่อมะเร็ง และสิ่งสำคัญควรสังเกตตัวเองอยู่เสมอเพื่อการรักษาที่ทันเวลา เนื่องจากการรักษาโรคในระยะแรกเริ่มจำได้ผลดีกว่าในระยะลุกลาม

การรักษา มะเร็งหลังโพรงจมูก

จะคล้ายกับมะเร็งอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย การรักษาแพทย์ปัจจุบันจะประกอบไปด้วยการฉายแสง , การผ่าตัดและการให้เคมีบำบัด หากผู้ป่วยมาพบแพทย์เร็ว ตั้งแต่ระยะที่ 1 หรือระยะที่ 2 จะรักษาด้วยการฉายแสง หรืออาจจะมีการผ่าตัดร่วมด้วยในบางราย โดยหากทำการรักษาตั้งแต่ระยะแรก จะสามารถรักษาให้หายขาดได้

การดูแลพักฟื้นหลังเข้ารับการรักษา การให้การรักษาด้วยการฉายแสง , การผ่าตัด หรือว่าการให้เคมีบำบัด โดยหลักๆ จะเป็นหน้าที่ของทีมแพทย์และพยาบาลในการรักษา ซึ่งคนไข้สามารถให้ความร่วมมือกับทางทีมแพทย์และพยาบาล โดยการไปตามตารางนัดอย่างเคร่งคัด  รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ บำรุงร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ  พร้อมที่จะเข้ารับการฉายแสง , การผ่าตัด หรือการให้เคมมีบำบัดตามตาราง  และหมั่นทำความสะอาดบริเวณที่ต้องทำการรักษาอยู่เสมอ

[Total: 0 Average: 0]