มะเร็งช่องปาก หมายถึงมะเร็งที่เกิดขึ้นในบริเวณช่องปาก ได้แก่ ริมฝีปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม เหงือก ลิ้นไก่ เพดานแข็ง และพื้นปาก (ใต้ลิ้น) ซึ่งจัดว่าเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยชนิดหนึ่งที่มีอายุมากกว่า 40 ปี
สาเหตุ มะเร็งช่องปาก
ส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์จัด (ประมาณร้อยละ 90 ของผู้ป่วยมีประวัติสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์) การถูกแสงแดด (ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ป่วยมะเร็งริมฝีปากมีประวัติสัมผัสแสงแดดเป็นเวลายาวนาน) นอกจากนี้ยังอาจมีความสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น
- การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV/human papilloma virus) ชนิด16 และ18 ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก
- การกินผักและผลไม้น้อย
- การใส่ฟันปลอมที่หลวมทำให้เกิดการระคายเคืองเรื้อรัง และอาจกักสารก่อมะเร็ง (เช่น แอลกอฮอล์ สารเคมีในบุหรี่) ให้สัมผัสกับเยื่อบุภายในช่องปากนานขึ้น
- การที่เคยได้รับรังสีเอกซ์
- การใช้ยากดภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
- การเคี้ยวหมาก (ซึ่งมีสารก่อมะเร็ง) การเคี้ยวหรือจุกยาฉุน การใช้ยานัตถุ์
- การระคายเคืองเรื้อรัง เช่นแผลจากฟันเก ฟันบิ่น ขอบฟันที่คม เป็นต้น
อาการ มะเร็งช่องปาก
มีอาการแสดงได้หลายลักษณะ (ขึ้นกับระยะและตำแหน่งของโรค) ดังต่อไปนี้
- มีฝ้าขาว (leukoplakia) หรือฝ้าแดง (erythroplakia) บนเยื่อบุภายในช่องปาก
- เป็นแผลเล็กๆ คล้ายแผลแอฟทัส ไม่รู้สึกเจ็บ เป็นนานเกิน 3 สัปดาห์ หรือมีเลือดออกง่าย
- คลำได้ก้อนในช่องปาก หรือข้างคอ
- รู้สึกเจ็บหรือมีความลำบากในการกลืน พูดหรือเคี้ยว
- ใส่ฟันปลอมที่เคยใช้ไม่ได้
- มีอาการฟันโยก ฟันหลุด (เนื่องจากเนื้องอก)
- มีอาการเสียงแหบเรื้อรัง (เกิน 3 สัปดาห์)
- มีอาการชาบริเวณปากหรือใบหน้า
การป้องกัน มะเร็งช่องปาก
แนะนำให้คนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี หรือมีพฤติกรรมเสี่ยง หมั่นตรวจดูช่องปากของตนเอง (เช่น ขณะแปรงฟัน) และควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจดูสุขภาพช่องปากและฟันทุก 6 – 12 เดือน
ถ้าพบฝ้าขาว ฝ้าแดง หรือเป็นแผลในช่องปากนาน เกิน 3 สัปดาห์ หรือคลำได้ก้อนในช่องปากหรือข้างคอควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์จัด การถูกแสงแดดเป็นเวลานาน รวมทั้งการเคี้ยวหรือจุกยาฉุน และนัตถุ์ยา เป็นต้น
- กินผักและผลไม้ให้มาก ๆ
- รักษาสุขภาพช่องปากและฟัน โดยการแปรงฟันให้ถูกวิธี และบ้วนปากหลังกินอาหารทันที
- ถ้ามีฟันเก ฟันบิ่น ขอบฟันคม หรือฟันปลอมที่หลวม ควรแก้ไขอย่าปล่อยให้ครูดถูกเยื่อบุในช่องปาก
- ถ้ามีฟันปลอม ควรถอดออกมาล้าง (โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นตะขอ)ให้สะอาดหลังกินอาหารทุกครั้ง และเวลาเข้านอนควรถอดฟันปลอมออก
การรักษา มะเร็งช่องปาก
หากสงสัยควรส่งโรงพยาบาลหรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การวินิจฉัยที่แน่นอน คือ การตรวจชิ้นเนื้อ (biopsy) ที่ตัดจากรอยโรคที่สงสัย และทำการตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น ตรวจเลือด ปัสสาวะ เอกซเรย์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อประเมินความรุนแรงหรือระยะของโรค
การรักษา ส่วนใหญ่มักจะรักษาด้วยการผ่าตัดหรือการฉายรังสี (รังสีบำบัด) หรือใช้ร่วมกัน ขึ้นกับขนาดและตำแหน่งของมะเร็ง
นอกจากนี้ อาจให้เคมีบำบัดร่วมด้วย เช่น ให้ก่อนผ่าตัดหรือฉายรังสีในกรณีที่มะเร็งมีขนาดใหญ่ หรือเป็นมะเร็งระยะแพร่กระจาย
ผลการรักษาขึ้นกับชนิดและระยะของมะเร็ง ส่วนใหญ่มักจะได้ผลดี และมีชีวิตได้ยืนยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าพบมะเร็งในระยะแรก