การรักษา ไส้ติ่งอักเสบ

 หากสงสัยควรรีบส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ควรงดอาหารและน้ำดื่ม (ถ้ามีอาการขาดน้ำควรให้น้ำเกลือไประหว่างทางด้วย) เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการผ่าตัดฉุกเฉิน

แพทย์มักจะวินิจฉัยโรคนี้จากประวัติอาการ และการตรวจร่างกาย และมักทำการตรวจทางทวารหนักโดยผู้ตรวจสวมถุงมือ แล้วใช้นิ้วชี้สอดเข้าทวารหนักของผู้ป่วย หากปลายนิ้วแหย่ถูกปลายไส้ติ่งจะมีอาการเจ็บมาก ซึ่งเพิ่มน้ำหนักของการวินิจฉัย

ในรายที่ต้องการยืนยันให้แน่ชัด หรือสงสัยเกิดจากสาเหตุอื่น อาจต้องทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด (ในผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบจะพบว่ามีจำนวนเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ) ตรวจปัสสาวะ (หากตัวไส้ติ่งอยู่ใกล้ท่อไตหรือกระเพาะปัสสาวะอาจพบเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติ) เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ (อาจพบไส้ติ่งที่อักเสบบวม หรือก้อนฝีรอบ ๆ ไส้ติ่ง) เป็นต้น

ถ้าเป็นโรคนี้จริงจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดไส้ติ่งออกทันที แพทย์จะฉีดยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังการผ่าตัด โดยเริ่มฉีดตั้งแต่ก่อนลงมือผ่าตัดผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 3-5 วัน และมักหายดีโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด

[Total: 0 Average: 0]