หลอดอาหารอักเสบ (Esophagitis) คืออาการอักเสบหรือระคายเคืองของเยื่อบุหลอดอาหาร ซึ่งเป็นท่อที่นำอาหารจากปากไปสู่กระเพาะอาหาร มักมีสาเหตุมาจากกรดไหลย้อน โรคภูมิแพ้ ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด และการติดเชื้อ
ผู้ที่เป็นหลอดอาหารอักเสบ จะมีอาการดังนี้:
- มีปัญหาในการกลืนอาหาร (trouble swallowing)
- เจ็บคอ (Sore Throat)
- แสบร้อนกลางอก (heartburn)
หากไม่ได้รับการรักษาจะทำเกิดแผลในหลอดอาหาร เกิดการตีบตันในหลอดอาหาร ซึ่งถือเป็นเรื่องร้ายแรงและต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
การรักษาหลอดอาหารอักเสบจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ หากรู้สาเหตุที่แท้จริงจะทำให้รักษาได้ตรงจุดและหายเร็วขึ้น หากรักษาได้เหมาะสมและตรงจุดมักจะมีอาการดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์ ส่วนผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันหรือติดเชื้ออาจจะใช้เวลาในการฟื้นตัวยาวนานขึ้น
สาเหตุ หลอดอาหารอักเสบ
หลอดอาหารอักเสบเกิดขึ้นได้จากปัจจัยและภาวะทางสุขภาพบางอย่าง โดยมีสาเหตุหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
กรดไหลย้อน คือภาวะที่กรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับสู่หลอดอาหารบ่อยครั้ง อันเนื่องมาจาการทำงานที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณส่วนปลายของหลอดอาหาร ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังและการระคายเคืองหลอดอาหาร
โรคภูมิแพ้ เมื่อร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้มากเกินไปอาจทำให้เม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิลในกระเพาะอาหารถูกผลิตออกมาในปริมาณมาก ส่งผลให้หลอดอาหารเกิดการอักเสบได้ โดยหลอดอาหารอักเสบประเภทนี้อาจถูกกระตุ้นจากอาหารชนิดต่าง ๆ เช่น นม ไข่ ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ถั่วลิสง หอย เนื้อวัว เป็นต้น รวมไปถึงการสูดดมเกสรดอกไม้ด้วย
การใช้ยา ผู้ป่วยที่รับประทานยาบางชนิดโดยไม่ได้ดื่มน้ำตามหรือดื่มน้ำเพียงเล็กน้อยอาจส่งผลให้ตัวยาอยู่ภายในหลอดอาหารนานจนเกินไป จนเกิดการอักเสบขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น ยาแก้ปวดอย่างแอสไพรินหรือไอบูโพรเฟน ยาปฏิชีวนะ โพแทสเซียมคลอไรด์ ยาบิสฟอตโฟเนต และยาควินิดีน เป็นต้น
การติดเชื้อ เป็นสาเหตุของหลอดอาหารอักเสบที่พบได้น้อย เกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา หรือปรสิตในเนื้อเยื่อของหลอดอาหาร ในผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และผู้ป่วยที่ใช้ยาสเตียรอยด์หรือยาปฏิชีวนะเป็นระยะเวลานาน อาจพบเชื้อราแคนดิดาภายในช่องปากได้
อาการ หลอดอาหารอักเสบ
คนที่เป็นหลอดอาหารอักเสบจะมีอาการดังนี้:
- กลืนอาหารลำบาก
- รู้สึกเจ็บคอเวลากลืนอาหารหรือน้ำ (odynophagia)
- เจ็บคอ
- เสียงแหบ
- ปวดแสบที่กลางอก (heartburn)
- มีกรดไหลย้อน
- เจ็บหน้าอก (รู้สึกเจ็บมากขึ้นเวลาทานอาหาร)
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- เจ็บลิ้นปี่
- เบื่ออาหาร
- ไอ
หากอาการนี้เกิดในเด็กเล็กจะทำให้กลืนนมลำบาก และหากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์:
- หายใจถี่ หรือเจ็บหน้าอก โดยเฉพาะหากเกิดอาการในช่วงเวลาที่ไม่ใช่มื้ออาหาร
- มีอาการต่อเนื่องเกิน 2-3 วัน
- อาการรุนแรงจนทำให้รู้สึกรับประทานอาหารลำบาก
- ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อหรือมีไข้
หากมีอาการดังต่อไปนี้ ให้ไปพบแทพย์ทันที:
- เจ็บหน้าอกนานเกิน 2-3 นาที โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีประวัติเกี่ยวกับโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวาน
- รู้สึกว่ามีอาหารติดอยู่ในหลอดอาหาร
- ไม่สามารถดื่มน้ำได้เลยแม้แค่จิบเพียงเล็กน้อย
การรักษา หลอดอาหารอักเสบ
การรักษาหลอดอาหารอักเสบจะมีความแตกต่างตามสาเหตุของอาการ ซึ่งวิธีการรักษามีดังนี้:
- ใช้ยาต้านไวรัส
- ใช้ยาต้านเชื้อรา
- ใช้ยาลดกรด
- ใช้ยาแก้ปวด
- ใช้ยาสเตียรอยด์ในช่องปาก
- ใช้ยาที่มีฤทธิ์ขัดขวางการสร้างกรดในกระเพาะอาหาร (proton pump inhibitors)
หากแพ้อาหาร ต้องแน่ใจว่าไม่มีสิ่งที่ทำให้แพ้อยู่ในอาหารที่รับประทาน ซึ่งอาหารลำดับต้นๆ ที่คนส่วนใหญ่มักจะแพ้ มีดังต่อไปนี้:
- นม
- ถั่วเหลือง
- ไข่
- ข้าวสาลี
- ถั่วลิสง
- ถั่วเปลือกแข็ง (tree nuts) – หมายถึงเมล็ด (nut) แห้งจากพืชยืนต้น ใช้บริโภคเป็นอาหารด้วยการคั่ว ทอด หรือนำมาใช้ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของอาหาร เช่น อัลมอนด์ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น
- อาหารทะเลเปลือกแข็ง
สามารถบรรเทาอาการหลอดอาหารอักเสบด้วยการหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เครื่องดื่มหรืออาหารที่เป็นกรด เช่น น้ำอัดลม อาหารแข็ง เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน หรือขอคำแนะนำเรื่องอาหารที่เหมาะสมจากแพทย์ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
หากพบว่าหลอดอาหารแคบเกินไปจนเป็นสาเหตุทำให้อาหารติดค้างในหลอดอาหาร อาจมีความจำเป็นต้องทำการขยายหลอดอาหาร
หากอาการเหล่านี้ เป็นผลมาจากการใช้ยา เราควรต้องดื่มน้ำตามมากๆ เปลี่ยนมาใช้ยาชนิดน้ำแทนยาเม็ด หรือลองใช้ยาอื่นแทน และไม่ควรนอนหรือเอนลำตัวราบไปกับพื้นทันที ควรรอให้เกิน 30 นาที ภายหลังรับประทานยาชนิดเม็ด