โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด คือ โรคที่พบบ่อยในเด็ก ประเทศไทยพบประมาณ 5-8 คนจากเด็ก 1,000 คน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 50 ไม่มีอาการ ที่เหลือมีอาการเขียว เกิดจากความผิดปกติในการสร้างส่วนต่างๆ ของหัวใจตั้งแต่ตั้งครรภ์ช่วงแรก หัวใจมีส่วนประกอบเป็นกล้ามเนื้อ ทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย แบ่งเป็นห้องต่างๆ 4 ห้อง มีผนังกั้นแยกหัวใจด้านซ้ายและขวาออกจากกัน มีลิ้นหัวใจกั้นแยกหัวใจห้องบนและห้องล่าง
สาเหตุ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
สาเหตุที่แน่ชัดยังไม่ทราบ แต่สันนิษฐานว่าเกิดได้จากหลายสาเหตุปัจจัย เช่น
- สาเหตุจากเด็ก คือ มีความผิดปกติของพันธุกรรม
- สาเหตุจากมารดาขณะตั้งครรภ์ การติดเชื้อ การได้รับยาบางชนิด การใช้สารเสพติด การได้รับรังสี การตั้งครรภ์เมื่อมีอายุมาก
- ครอบครัวมีประวัติโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
อาการ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
เริ่มจากไม่มีอาการจนถึงอาการรุนแรง อาการที่ผู้ปกครองควรสงสัยว่าบุตรหลานของท่านเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด คือ
- เหนื่อยง่าย เมื่อเทียบกับเด็กปกติ
- เมื่ออยู่ในวัยทารก พบว่าต้องใช้เวลาดูดนมนาน ดูดนมแล้วพักบ่อย หายใจเร็ว หายใจทางจมูก หรือซี่โครงบาน
- สังเกตจากลิ้น เยื่อบุตา ริมฝีปาก ปลายมือ ปลายเท้าเป็นสีคล้ำ
- ติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น เป็นหวัด หรือปอดบวมบ่อย
- เด็กขาดการเจริญเติบโต หรือโตต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
- ลักษณะภายนอกผิดปกติ เช่น กลุ่มอาการดาวน์
- หน้าอกผิดรูป ยุบ หรือโป่งมากผิดปกติ นิ้วปุ้ม
- หัวใจเต้นเร็ว และแรงผิดปกติ
การรักษา โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
- 1. การรักษาด้วยยา (Medical Treatment) ได้แก่ กลุ่มยารักษาภาวะหัวใจล้มเหลว เพื่อควบคุมอาการทางหัวใจ เช่น ในกรณีที่มีผนังกั้นห้องหัวใจด้านล่างรั่ว (Ventricular Septal Defect) ซึ่งเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่พบบ่อยที่สุด
- 2. การรักษาด้วยการผ่าตัด (Surgical Treatment) ในกรณีที่มีความผิดปกติ เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดเขียว หรือ การผ่าตัดปิดผนังกั้นห้องหัวใจด้านล่างที่รั่ว
[Total: 0 Average: 0]