โรคลิ้นหัวใจ คือโรคที่มีพยาธิสภาพเกิดขึ้นกับลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ (ลิ้นหัวใจตีบหรือลิ้นหัวใจรั่ว) ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ การทำงานของหัวใจผิดปกติ เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้
โรคลิ้นหัวใจ พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ พบทั้งในเพศชายและเพศหญิง
สาเหตุ โรคลิ้นหัวใจ
สาเหตุของโรคลิ้นหัวใจในเด็กแรกเกิดมักเป็นความพิการหรือความผิดปกติแต่กำเนิด ส่วนในวัยผู้ใหญ่มักเป็นโรคลิ้นหัวใจที่เกิดตามหลังไข้รูมาติกและหัวใจรูมาติก (Rheumatic fever and rheumatic heart disease) และในผู้สูงอายุมักเป็นจากความเสื่อมของลิ้นหัวใจตามอายุ ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ ลิ้นหัวใจรั่วจากกล้ามเนื้อหัวใจผิกปกติ เป็นต้น
อาการ โรคลิ้นหัวใจ
ทั้งนี้ อาการที่อาจบ่งชี้ว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว คือ มีอาการบวมของท้อง หรือขา เหนื่อยง่ายกว่าปกติ หรืออยู่เฉยๆ ยังมีอาการเหนื่อย และไม่สามารถนอนราบได้
ถ้ามีอาการเหล่านี้ ให้มาพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว
การรักษา โรคลิ้นหัวใจ
ซึ่งการรักษาลิ้นหัวใจสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ซ่อมแซมลิ้นหัวใจเดิม ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและการวินิจฉัยของอายุรแพทย์หัวใจ
- การรักษาด้วยยา ตามอาการ เช่น ยาควบคุมปัสสาวะ ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ ยาขยายหลอดเลือด และยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด
- การขยายลิ้นหัวใจ ซึ่งจะใช้ในกรณีลิ้นหัวใจตีบ
- การผ่าตัดโดยการเปลี่ยนลิ้นหัวใจหรือซ่อมแซมลิ้นหัวใจ ด้วยการผ่าตัดขยายรูของลิ้นหัวใจหากมีการตีบ การเย็บรูของลิ้นหัวใจที่มีการรั่ว รวมไปถึงการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมแทนลิ้นหัวใจ ที่ไม่สามารถใช้งานได้