4 ประเภทของเภสัชกรรมทางไกล Telepharmacy

ข่าวสุขภาพ อัพเดต สาธาณสุข

Telepharmacy คือ การบริบาลทางเภสัชกรรมและการส่งมอบเภสัชภัณฑ์จากเภสัชกรผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารทางไกลไปยังผู้ป่วย ที่อยู่ในสถานที่ที่แตกต่างกัน ผู้ป่วยจะได้รับยาและการดูแลรักษาทางเภสัชกรรม ภายในสถานที่ที่ปลอดภัยและสะดวกต่อการเข้าถึง ซึ่งครอบคลุมไปถึง การให้คำปรึกษาด้านยา (patient counseling), การติดตามการรักษาและผลข้างเคียง (drug therapy monitoring ) การจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์ (refill the prescribed drugs) โดยสามารถแบ่ง Telepharmacy ออกเป็น 4 ประเภทคือ

1. Inpatient (remote order-entry review)

Remote order-entry review คือ การตรวจสอบคำสั่งการใช้ยาจากแพทย์บนหอผู้ป่วยใน โดยเภสัชกรที่อยู่ในอีกสถานที่หนึ่ง สามารถรับคำสั่งการใช้ และตรวจสอบคำสั่งการใช้ยา เพื่อยืนยันความถูกต้องและปลอดภัยในการใช้ยากับผู้ป่วยบนหอผู้ป่วยใน (inpatient) โดยประโยชน์ของเภสัชกรรมทางไกลข้อนี้ คือ สามารถเป็นทางเลือกให้กับโรงพยาบาลที่ยังไม่สามารถมีเภสัชกรประจำได้ 24 ชั่วโมง

2. Remote dispensing (retail/outpatient/discharge) 

Remote dispensing คือการจัดและจ่ายยาทางไกลจากเภสัชกรที่ปฏิบัติหน้าที่ ณ ห้องจ่ายยาผู้ป่วยนอก หรือ ร้านยา ไปยังคนไข้ โดยที่มีเจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่สามเป็นผู้ส่งมอบยา ภายใต้การกำกับดูแลมาตรฐานการขนส่ง อนุมัติและตรวจสอบรายการยาจากใบสั่งแพทย์โดยเภสัชกร ก่อนทำการส่งมอบยาทุกครั้ง ประโยชน์ของเภสัชกรรมทางไกลข้อนี้ สามารถช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการบริบาลเภสัชกรรมและยาที่จำเป็นมากขึ้น อำนวยความสะดวกในพื้นที่ที่ไม่มีเภสัชกร หรือมีข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ในการเข้าถึงยาได้ โดยที่เห็นได้ชัดคือ Start up หลายบริษัทในต่างประเทศ เช่น Pillpack , Capsule (จาก USA ทั้งสองบริษัท มี Co-founder เป็นเภสัชกร) , Babylon (UK) , และ Online-Pharmacy อีกหลายแห่ง ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขัน เพื่อพัฒนางานบริการด้านเภสัชกรรมสำหรับผู้ป่วยมากขึ้น (แต่ขอย้ำว่าเป็นรายการยาที่มาจากใบสั่งแพทย์เท่านั้น)

3. Remote counseling

Remote counseling คือ การให้คำปรึกษาและการติดตามการใช้ยาทางไกล โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น live-video, calls ,text message จากเภสัชกรที่อยู่ในโรงพยาบาลหรือร้านยา ไปยังผู้ป่วยซึ่งอยู่ในอีกสถานที่หนึ่ง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับคำแนะนำ ข้อควรระวัง และการปฏิบัติตัวในการใช้ยาที่เหมาะสม ประโยชน์ของเภสัชกรรมทางไกลข้อนี้ คือการขยายงานการบริบาลเภสัชกรรมออกไปจากเดิม ที่การดูแลคนไข้จะเริ่มต้นเมื่อคนไข้เข้ามาที่ร้านยาหรือสถานที่ปฏิบัติการ และสิ้นสุดลงเมื่อคนไข้รับยา

แต่การติดตามผลข้างเคียงหลังการใช้ยาหรือการให้คำแนะนำผ่านเทคโนโลยีทางไกลสามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลด้านเภสัชกรรมตลอดเวลาที่มีการใช้ยาและสามารถเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงการบริบาลเภสัชกรรมได้  

4. IV admixture verification 

IV admixture verification คือ การตรวจสอบการผสมยาปราศจากเชื้อ โดยเภสัชกรที่อยู่อีกสถานที่หนึ่ง จะทำการตรวจสอบคำสั่งการใช้ยาจากแพทย์และตรวจสอบขั้นตอนการผสมยาของเจ้าหน้าที่หรือผู้ช่วยเภสัชกร ในห้องผสมยาปราศจากเชื้อ ผ่านรูปแบบ VDO, ภาพ , Barcode โดยประโยชน์ของเภสัชกรรมทางไกลข้อนี้ คือ สามารถขยายงานด้านเภสัชกรรมการผสมยาปราศจากเชื้อ ออกไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ห่างไกลและขาดแคลนเภสัชกรได้ และยังลดความเสี่ยงของเภสัชกร จากเดิมที่สัมผัสยาอันตราย ตลอดเวลาการทำงาน มาทำหน้าที่ตรวจสอบกระบวนการการผสม

ตัวอย่าง การผสมยาปราศจากเชื้อ เช่น ยาเคมีบำบัด สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง , สารอาหารที่ให้ทางหลอดเลือดดำ(TPN) และ ยาปฏิชีวนะแบบพร้อมใช้   

[Total: 14 Average: 4.9]

Leave a Reply