คาริโซโพรดอล: อย.ถอนทะเบียนยาสูตรผสมแก้ปวด

ข่าวสุขภาพ อัพเดต สาธาณสุข

 อย. เพิกถอนทะเบียนตำรับยาคาริโซโพรดอล ส่วนผสมในยาแก้ปวด เกรงทำให้ผู้ใช้เกิดการเสพติดตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข รวม 20 ตำรับ เนื่องจากพบว่าเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ไม่มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อโดยตรง อีกทั้งมีฤทธิ์สงบประสาท เป็นยานอนหลับและเสพติดได้ เสี่ยงต่อการนำไปใช้ในทางที่ผิด อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ยา

          ภญ.วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบ และทบทวนประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ยาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่า ยาคาริโซโพรดอล (carisoprodol) ซึ่งเป็นยาที่อยู่ในสูตรผสมของยาแก้ปวด และมีการใช้ในกลุ่มผู้ใช้ยาที่ต้องการรักษาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย

          โดยยาดังกล่าวไม่ได้ออกฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อโดยตรง แต่จะออกฤทธ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้สงบประสาทและนอนหลับ และเมื่อเลิกใช้ยาก็จะกลับมารู้สึกปวดเมื่อยตามร่างกายอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ร่างกายเกิดการเสพติด รวมทั้งอาจมีความต้องการใช้ยาอย่างต่อเนื่องได้

          นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงในการนำไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ยา นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการยา จึงได้มีคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 547/2552 ให้เพิกถอนทะเบียนตำรับยาคาริโซโพรดอล

ภญ.วีรวรรณกล่าวว่า การเพิกถอนทะเบียนตำรับยาคาริโซโพรดอล มีผลให้ยาแก้ปวดที่มียาคาริโซโพรดอล เป็นส่วนผสมจำนวน 20 ตำรับ ต้องถูกเพิกถอนทะเบียนตำรับยาด้วย อาทิ

  •           ยาคาริทาโซน (caritasone) เลขทะเบียนตำรับยาที่ 2a 283/26
  •           ยาคาริโซโค (cariso-co) เลขทะเบียนตำรับยาที่ 2a 421/27
  •           ยาโซมาจิน (somagin) เลขทะเบียนตำรับยาที่ 2a 781/27
  •           ยาโพลิแซน (polixan) เลขทะเบียนตำรับยาที่ 2a 441/28
  •           ยาพาริโซดอล แท็บเล็ทส์ (parisodol tablets) เลขทะเบียนตำรับยาที่ 2a 745/29
  •           ยาเซ็นพาดอล แท็บเล็ทส์ (cenpadol tablets) เลขทะเบียนตำรับยาที่ 2a 861/29
  •           ยาแร็กโซมา (raxsoma) เลขทะเบียนตำรับยาที่ 2a 1057/29
  •           ยารูมาโซน – ดี (rumazone-d) เลขทะเบียนตำรับยาที่ 2a 59/30
  •           ยามัสเซลแล็กซ์ (muscelax) เลขทะเบียนตำรับยาที่ 2a 279/30

 ภญ.วีรวรรณกล่าวว่า อย. มีการทบทวนและตรวจสอบผลิตภัณฑ์ยาที่มีการขึ้นทะเบียนตำรับยากับ อย. แล้วอย่างสม่ำเสมอ ในขณะเดียวกันก็มีการเปิดรับข้อมูลทางวิชาการใหม่ๆ ที่เชื่อถือได้จากทั่วโลก เพื่อให้มั่นใจว่าการขึ้นทะเบียนตำรับยากับ อย. มีความปลอดภัย จึงขอให้ผู้บริโภคมั่นใจในการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค

[Total: 2 Average: 5]

Leave a Reply