หอการค้าอเมริกันในประเทศไทยได้มอบรางวัลด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Corporate Social Responsibility: CSR) เพื่อเป็นเกียรติแก่สมาชิกของหอการค้าฯ ที่สร้างประโยชน์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมให้แก่สังคมไทย จำนวน 87 บริษัท ในการนี้ นายไมเคิล ฮีท อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และนายเกร็ก หว่อง ประธานหอการค้าฯ ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลมอบรางวัลออนไลน์ โดยได้ยกย่องบริษัทเหล่านี้ที่ได้แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ชุมชนในท้องถิ่น
อุปทูตไมเคิล ฮีท ได้กล่าวยกย่องบทบาทของภาคเอกชนในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และไทย ผ่าน โครงการ CSR ต่างๆ โดยนายไมเคิลกล่าวว่า “ภาคธุรกิจของสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนและการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในทุกๆ พื้นที่ที่เข้าไปดำเนินกิจการ ภาคธุรกิจของสหรัฐฯ นั้นยืนเคียงข้างกับประเทศไทยในการต่อสู้กับสถานการณ์โควิด-19 และเริ่มต้นกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการลงทุนอย่างต่อเนื่องในทรัพยากรบุคคล การศึกษา เทคโนโลยี และสาธารณสุข เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ยั่งยืนให้แก่ประเทศไทย”
รางวัลด้านความรับชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมยอดเยี่ยมของหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (AMCHAM CSR Excellence Recognition) นั้นมอบให้แก่บริษัทสมาชิกของหอการค้าฯ ที่ดำเนินการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทยมายาวนาน บริษัทที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องมีโครงการ CSR พร้อมผลลัพธ์ที่สามารถชี้วัดได้ว่าสร้างประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี มีระดับการมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กรสูง ตลอดจนมีการสร้างพันธมิตรด้านยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งกับองค์กรไทย นอกจากนี้ ภารกิจหลักของบริษัทจะต้องมีความสอดคล้องกับเป้าหมายด้าน CSR อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ รางวัลในระดับต่างๆ ที่มอบให้บริษัทสมาชิกจะถูกพิจารณาจากจำนวนปีของความสำเร็จในการดำเนินงานด้าน CSR โดยบริษัทจะต้องดำเนินงานด้าน CSR อย่างน้อย 3 ปีติดต่อกันสำหรับรางวัลระดับเงิน (Silver level) 5 ปีติดต่อกันสำหรับรางวัลระดับทอง (Gold level) และ 10 ปีติดต่อกันสำหรับรางวัลระดับแพล็ทตินัม (Platinum level) ยิ่งไปกว่านั้น สมาชิกบางบริษัทยังได้รับรางวัลพิเศษสำหรับโครงการ CSR ที่บริษัทได้ดำเนินการ สำหรับสายโรงพยาบาลได้แก่
- โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ 9 ปี: โครงการเพื่อสังคมหลักๆ ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน อาทิ โครงการรักษ์ใจไทย เพื่อผ่าตัดเด็กโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดผู้ด้อยโอกาส นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบัน ได้ช่วยเหลือเด็ก ๆ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไปแล้วกว่า 818 ราย ซึ่งนอกเหนือจากการช่วยเหลือเด็กชาวไทยแล้ว ยังได้ขยายความช่วยเหลือไปยังประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย คือ เมียนมา เวียดนาม และกัมพูชา, โครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ “อาสาบำรุงราษฎร์” ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เริ่มออกให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 บริการรักษาพยาบาลโรคพื้นฐานแก่ประชาชนในชุมชนต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร 25 แห่ง สัปดาห์ละ 5 วัน,โครงการผ่าตัดช่วยเหลือเด็กภาวะกระดูกสันหลังคด ด้วยหุ่นยนต์นำวิถี เพื่อช่วยเหลือเด็กภาวะกระดูกสันหลังคด อายุระหว่าง 10 – 18 ปี ให้มีโอกาสเข้ารับการรักษาเพื่อแก้ไขมุมความโค้งของกระดูกสันหลังให้ตรงยิ่งขึ้น และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยใช้วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์นำวิถี เพื่อให้ศัลยแพทย์การผ่าตัดวางตำแหน่งสกรูได้อย่างแม่นยำในการจัดกระดูกสันหลัง, โครงการส่งเสริมสุขภาพและเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ, โครงการส่งเสริมสุขอนามัยและโภชนาการแก่เด็กเล็กและเด็กนักเรียน, การเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสุขภาพที่ถูกต้องตามหลักวิชาการแก่ประชาชนทั่วไป ตามสถานการณ์ของโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ผ่านช่องทางของโรงพยาบาลฯ เองและผ่านสื่อสาธารณะอย่างสม่ำเสมอ, และการสนับสนุนโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างเครือข่ายเพื่อยกระดับความเข้มแข็งด้านอาชีพและองค์กรของผู้พิการ โดยสถาบันพัฒนาธุรกิจชุมชน
- โรงพยาบาลสมิติเวช 7 ปี
- Movenpick BDMS Wellness Resort
นอกเหนือจากโครงการด้าน CSR โดยทั่วไปแล้ว ในปี 2564 บริษัทสมาชิกหอการค้าฯ ได้บริจาคเงินสดและสิ่งของเป็นมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ นายเกร็กได้กล่าวยกย่องบริษัทสมาชิกที่ดำเนินการช่วยเหลือที่ตอบสนองต่อความต้องการด้านสังคม เศรษฐกิจ และสาธารณสุขที่เร่งด่วนของประเทศ และให้การสนับสนุนรัฐบาลไทยตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าว
พิธีการมอบรางวัลผู้ชนะด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมยอดเยี่ยมโดยหอการค้าอเมริกันในประเทศไทยจะถูกจัดขึ้นในช่วงปลายปีของแต่ละปี โดยหอการค้าฯ นั้นมีความภาคภูมิใจถึงสิ่งที่บริษัทสมาชิกทำเพื่อสร้างคุณค่ากลับสู่ประเทศไทยและสังคมไทย ซึ่งเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดีสำหรับทุกคน โดยตลอดทั้งปี คณะกรรมการด้าน CSR จะแบ่งปันข้อมูลด้านหลักปฏิบัติที่ดีเยี่ยมเหล่านี้ให้แก่สมาชิก ตลอดจนให้การสนับสนุนและมอบองค์ความรู้ต่างๆ แก่บริษัทสมาชิกที่อยู่ระหว่างการสร้างหรือพัฒนายุทธศาสตร์ด้าน CSR ของตน ทั้งนี้ การมอบรางวัลด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมยอดเยี่ยม เป็นการยกย่องบริษัทสมาชิกถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องและยาวนานในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้แก่ประเทศไทย โดยหอการค้าฯ จะเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการรางวัลด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมยอดเยี่ยมของปี 2565 ในเดือนกรกฎาคม 2565