โรงพยาบาลศิริราช หรือในชื่อพระราชทานเมื่อแรกตั้งว่า “โรงศิริราชพยาบาล” นับเป็นโรงพยาบาลของรัฐแห่งแรกของประเทศไทย การสร้างโรงพยาบาลแห่งนี้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ความยากกลับอยู่ที่จะหาคนไข้มารักษา แม้จะฟรีหมดทุกอย่าง แต่ก็ยังไม่มีใครยอมเข้า ถึงกับต้องจ้างให้มารักษา แม้แต่หมอต่างก็ปิดบังตำรายาของตัว ยอมให้เฉพาะลูกหลานหรือศิษย์ องค์ผู้ให้กำเนิดต้องทุ่มเททั้งพระวรกายและสติปัญญา จนถึงกับสิ้นพระชนม์ชีพในโรงพยาบาลที่ทรงสร้าง
แบบย่อ
แบบย่อ โรงพยาบาลศิริราช: โรงพยาบาลแห่งแรกของไทย
ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ ร.5 ได้เกิดอหิวาตกโรคระบาดชุกชุม ในปี พ.ศ. 2424 จึงทรงมีรับสั่งให้จัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นชั่วคราวในที่ชุมชนรวม 48 ตำบลและเมื่อโรคร้ายเสื่อมถอยลง โรงพยาบาลจึงได้ปิดทำการลง
แต่ว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าโรงพยาบาลนั้นเป็นประโยชน์แก่ประชาชน เป็นที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้พสกนิกรทุกคน แตาการที่จะมีโรงพยาบาลนั้นเป็นเรื่องใหญ่มากในสมัยนั้น จำเป็นต้องมคณะกรรมการเพื่อจัดการโรงพยาบาลโดยเฉพาะ และแล้ววันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2429 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการจัดสร้างโรงพยาบาลทำหน้าที่จัดการและดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาล โดยสถานที่ตั้ง อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ พระราชวังบวรสถานพิมุข หรือ วังหลัง เพราะสถานที่รกร้าง แต่มีความร่มเย็นเหมาะสมสำหรับเป็นที่รักษาพยาบาลผู้ป่วย วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.ต เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด และพระราชทานนามว่า “โรงศิริราชพยาบาล” หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “โรงพยาบาลวังหลัง” โดยทำการบำบัดรักษาผู้ป่วยไข้ทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณของไทย
แบบเต็ม โรงพยาบาลศิริราช: โรงพยาบาลแห่งแรกของไทย
สมัยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ นั้น เมืองไทยยังไม่มีโรงพยาบาลของรัฐเลยแม้แต่แห่งเดียว คงมีแต่โอสถศาลาและคลินิกของพวกมิชชันนารีที่เปิดรักษาคนไข้ในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โรงพยาบาลแบบตะวันตกแห่งแรกของไทยก็คือ “โรงพยาบาลทหารหน้า” ของกรมทหารหน้า ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๒๒ ที่ถนนตรีเพชร ข้างสถานีตำรวจนครบาลพาหุรัต แต่รับรักษาพยาบาลเฉพาะทหารเท่านั้น และเลิกกิจการไปในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ เพราะขาดตัวบุคลากรผู้ดำเนินการ
ในปี พ.ศ.๒๔๒๔ ได้เกิดอหิวาตกโรคระบาดในกรุงเทพฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดชักชวนเจ้านายและข้าราชการให้ตั้งโรงรักษาอหิวาต์ขึ้นตามวังและบ้าน เพื่อช่วยเหลือประชาชน มีการตั้งโรงพยาบาลชั่วคราวขึ้นในครั้งนี้ถึง ๔๘ แห่ง แต่เมื่ออหิวาต์สงบลงก็เลิกไปด้วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีโรงพยาบาลถาวร เพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บของราษฎรและเป็นที่ฝึกวิชาแพทย์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งคณะกรรมการจัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นเรียกว่า “คอมมิตตีจัดการโรงพยาบาล” คือ
- พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศิริรัชสังกาศ
- พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ
- พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์
- พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์
- พระยาโชฎึกเศรษฐี (เถียร โชติกเสถียร)
- หลวงสิทธินายเวร (บุศ เพ็ญกุล ต่อมาเป็นเจ้าหมื่นสรรเพชญ์ภักดี)
- นายแพทย์ปีเตอร์ กาแวน แพทย์ประจำราชสำนัก
คณะกรรมการประชุมกันเห็นว่า โรงพยาบาลเป็นของใหม่ควรตั้งเพียงแห่งเดียวก่อน เมื่อคนเห็นคุณประโยชน์แล้วจึงค่อยจัดสร้างเพิ่มขึ้น ซึ่งแห่งแรกนี้จะขอแบ่งที่ดินอันเคยเป็นของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ซึ่งทิ้งรกร้างอยู่ฝั่งธนบุรี และซื้อที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านเหนือโรงเรียนวังหลังของมิชชันนารีอเมริกัน เพื่อทำท่าน้ำขึ้นไปโรงพยาบาล
คณะกรรมการได้มอบหมายงานทั้งหมดให้แก่กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ และพระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์เพียง ๒ พระองค์ โดยกรมหมื่นดำรงฯ ทรงรับภาระฝ่ายก่อสร้าง ส่วนพระองค์ศรีฯ ทรงรับภาระฝ่ายจัดการบริหารโรงพยาบาล
หลังจากที่ได้ดำเนินการไปได้ประมาณ ๒ เดือน สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ทรงประชวรและสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๐ ขณะมีพระชนมายุได้เพียง ๑ ปี ๖ เดือน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดงานพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง ร่วมกับงานพระเมรุของพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าตรีเพชรรุตมธำรง จึงได้ก่อพระเมรุด้วยไม้ที่ทนทาน เช่น ไม้สัก สร้างเป็นเรือนต่างๆ โดยมีพระราชประสงค์ว่า เมื่อเสร็จงานแล้วจะนำไปพระราชทานใช้ก่อสร้างโรงพยาบาลต่อ
การก่อสร้างโรงพยาบาลเริ่มต้นได้ปลูกเป็นเรือนไม้มุงหลังคาจาก ใหญ่ ๓ หลัง เล็ก ๓ หลัง สำหรับเป็นเรือนคนไข้ พร้อมทั้งเรือนอำนวยการและที่เก็บยาผสมยา เรือนผู้ดูแลโรงพยาบาล เรือนแถวของผู้รับใช้ โรงครัว ท่าน้ำ สะพาน ถนน กำแพง โดยยังไม่ปลูกให้ใหญ่โต เพื่อให้เสร็จเปิดดำเนินการได้โดยเร็ว ได้รับเงินทุนขั้นต้นนี้มาจากพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นเงิน ๑๖,๐๐๐ บาท ทั้งยังพระราชทานเงินของสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์อีก ๕๖,๐๐๐ บาท เพื่อสร้างถาวรวัตถุโรงพยาบาล ซึ่งคณะกรรมการได้นำเงินจำนวนนี้ไปสร้างอาคารสำหรับเปิดสอนวิชาแพทย์
การก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดรับรักษาคนไข้ได้ในวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๑ พระราชทานนามโรงพยาบาลแห่งแรกนี้ว่า “โรงศิริราชพยาบาล” ตามพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
เมื่อการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่การเปิดดำเนินงานของโรงพยาบาลก็ไม่ใช่ง่ายอย่างที่คิด ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ใน “นิทานเรื่องตั้งโรงพยาบาล” ว่า
“ความลำบากข้อแรก เริ่มแต่หาหมอประจำโรงพยาบาล ตามความคิดของกรรมการ หมายจะเลือกหมอที่ชำนาญการรักษาคนไข้เจ็บจนมีชื่อเสียง ซึ่งมักจะเป็นหมอหลวงโดยมาก มาให้รับเงินเดือนเป็นตำแหน่งนายแพทย์และนายแพทย์รองประจำโรงพยาบาล แต่เมื่อพระองค์ศรีไปเที่ยวตรัสชวนหมอหลวง ปรากฏแก่เธอว่าหมอถือตัวกันเป็นต่างพวก ใช้วิธีรักษาและยาที่รักษาโรคร่วมกันแต่ในพวกของตน ซึ่งมักเป็นลูกตัวหรือลูกเขย หรือเป็นศิษย์ของหมอที่เป็นตัวครู ต่างพวกต่างรังเกียจกัน ตามคำที่พระองค์ศรีเธอตรัสว่า “ดูราวกับเห็นพวกอื่นว่าไม่เป็นหมอไปเสียทั้งนั้น”
ฉันเคยทูลถามว่า “ถ้าเช่นนั้น เอาตำราหมอของหลวงนั้นใช้เป็นหลักไม่ได้หรือ”
เธอตรัสว่า “ได้ลองถามดูแล้วต่างคนต่างก็บอกว่าตำราหลวงนั้นใช้เป็นหลักไม่ได้จริงๆ อ้างเป็นอุทาหรณ์ดังเช่นตำรายาว่าเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ประชุมหมอหลวง แต่งตำรายาที่จารึก ณ วัดพระเชตุพนฯ หมอหลวงต่างก็ปิดพรางตำรายาดีของตนเสีย ไม่ได้ไปลงในตำราหลวง คงมีแค่ตำราที่แต่งไว้แต่ยาอย่างบรมโบราณอันใครๆก็รู้ด้วยกันหมด แต่วิธีรักษาและยาดีที่ใช้ในปัจจุบันหามีไม่”
ในที่สุด กรรมการก็ต้องใช้วิธีเลือกหมอที่มีชื่อเสียงมาคนหนึ่ง แล้วให้หมอผู้นั้นหามือรองมาเอง จะเป็นลูกหลานหรือศิษย์ก็ตาม แล้วใช้วิธีรักษาไข้ตลอดจนยาของหมอตำรับเดียว ซึ่งพระองค์เจ้าศรีฯได้เชิญพระประสิทธิวิทยา (หนู) หมอที่มีชื่อเสียงและคุ้นเคยกันมาเป็นนายแพทย์ใหญ่คนแรกของโรงพยาบาลศิริราช ส่วนแพทย์รองนั้นพระประสิทธิฯได้เลือกหมอหนุ่มที่เป็นศิษย์มา ๒ คน คือ หมอคง ถาวรเวช และหมอนิ่ม โกมลเวช ซึ่งทีมหมอทั้ง ๓ นี้ก็ประสบความสำเร็จด้วยดี ต่อมาพระประสิทธิฯได้เป็น พระยาประเสริฐศาสตร์ธำรง หมอคงได้เป็น พระยาพิษณุประสาทเวช และหมอนิ่ม ได้เป็น พระยาประเสริฐศาสตร์ธำรง แทนอาจารย์
เปิดรับรักษาครั้งแรกนั้นใช้ทั้งแผนไทยและแผนใหม่แบบตะวันตก สำหรับแผนฝรั่งนั้นให้หมอ ปีเตอร์ กาแวน แพทย์หลวงเป็นหมอใหญ่
ได้หมอมาแล้วใช่ว่าจะหมดปัญหา ยิ่งหนักกว่าขึ้นไปอีก เพราะโรงพยาบาลเป็นของใหม่ แม้จะไม่คิดค่ารักษาพยาบาล ฟรีทั้งค่ายา ค่าห้อง ค่าอาหาร และค่ารักษาซึ่งเรียกกันว่า “เงินขวัญข้าว” ก็ไม่ต้องจ่าย แต่เปิดคอยอยู่หลายวันก็ไม่มีคนไข้เข้ามา เพราะไม่ไว้วางใจ มีแต่ประเภทอาการเพียบหนักส่งไปรักษาที่ไหนไม่มีใครรับแล้ว จึงหามมาส่งศิริราช พอมาถึงยังไม่ทันรักษาก็ตาย ทำให้โรงพยาบาลกลายเป็นเรือนตายของคนไข้ เกิดความกลัวกันเข้าไปอีก จึงต้องไปเที่ยวตระเวนหาคนที่พอจะรักษาหายมาเข้าโรงพยาบาล มีผู้แนะนำให้ไปต้อนพวกขอทานที่เป็นแผลพุพองตามหน้าแข้ง นั่งขอทานอยู่ที่สะพานหันมารักษา ซึ่งหมอกาแวนรับว่ารักษาให้หายได้ไม่ยาก ปรากฏว่าขอทานพวกนั้นซึ่งเป็นคนจีน พอรู้ว่าจะเอาไปรักษาให้หายก็ไม่ยอม บอกว่าถ้าหายแล้วจะขอทานหากินได้อย่างไร ในที่สุดก็ต้องไปกวาดต้อนพวกบ่าวไพร่ของขุนนางทั้งหลายให้ไปรักษา ไปขอยาบ้าง ความเชื่อถือจึงค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ
อีกเรื่องหนึ่งก็คือการคลอดลูก ตามธรรมเนียมไทยแต่โบราณนั้น ให้หญิงที่คลอดลูกนุ่งผ้าเตี่ยวนอนบนกระดานแผ่นเดียว แล้วเอาเตาไฟสุมไว้ข้างๆให้ความร้อนเป็นเวลาถึง ๑๕ วัน เรียกว่า“อยู่ไฟ” เชื่อกันว่าถ้าผู้หญิงหลังคลอดลูกสุขภาพทรุดโทรมไม่สมบูรณ์ก็ว่า “อยู่ไฟไม่ได้” แต่ถ้าอ้วนท้วนผิวพรรณเปล่งปลั่งก็บอกว่าเพราะ “อยู่ไฟได้” แต่ผู้หญิงที่ออกลูกแล้วเป็นไข้ถูกความร้อนจากเตาไฟอังเข้าไปอีกก็ตายไปมาก
หม่อมเปี่ยม ชายาของกรมหมื่นปราบปรปักษ์ เมื่อมีบุตรคนแรก ซึ่งต่อมาก็คือเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ป่วยเป็นไข้ทุรนทุราย แต่ถูกบังคับให้อยู่ไฟจนหม่อมเปี่ยมตาย กรมหมื่นปราบฯ จึงปฏิญาณไว้เลยว่า ต่อไปมีบุตรธิดาอีกก็จะไม่ให้อยู่ไฟเป็นอันขาด และให้หมอกาแวนเป็นผู้ผดุงครรภ์ตามแผนฝรั่ง ซึ่งทุกคนก็สุขสบายดี
ต่อมาสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ป่วยเป็นไข้ตอนประสูติสมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหมื่นปราบฯ จึงกราบทูลชี้แจงเรื่องนี้ สมเด็จพระบรมราชินีทรงเลื่อมใสจึงขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เลิกผทมเพลิง คืออยู่ไฟ ให้หมอหลวงกาแวนพยาบาลตามการถวายคำแนะนำของกรมหมื่นปราบฯ ทรงตระหนักว่าดีกว่าอยู่ไฟแบบเดิม แต่นั้นมาพวกในวังและพวกมีบรรดาศักดิ์นอกวังก็เลิกอยู่ไฟตามสมเด็จพระราชินีกันเป็นแถว
แต่ในโรงพยาบาลศิริราชแม้จะมีการทำคลอดตามแผนใหม่ แต่คนไข้ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ยอมเชื่อ ขออยู่ไฟตามแบบโบราณ ซ้ำบางรายยังมีสายสิญจน์แขวนยันต์กันผีปอบรอบเตียง โรงพยาบาลก็ต้องยอมอนุโลม เมื่อสมเด็จพระราชินีทรงทราบ จึงโปรดประทานให้อ้างกระแสรับสั่งชี้แจงแก่คนที่จะคลอดลูกในโรงพยาบาลว่า พระองค์เองได้เคยผทมเพลิงมาก่อน แล้วเปลี่ยนมาใช้วิธีพยาบาลแบบใหม่ ทรงสบายกว่าการอยู่ไฟแบบเก่ามาก มีพระราชประสงค์จะให้ราษฎรได้ความสุขด้วย จึงทรงแนะนำให้ทำตามอย่างพระองค์ อย่าได้กลัวเลยหามีอันตรายไม่ และถ้าใครทำตามที่ทรงชักชวน จะพระราชทานเงินทำขวัญลูกที่คลอดใหม่คนละ ๔ บาท
พอมีกระแสรับสั่งเช่นนี้ คนที่ยอมรับการคลอดลูกแผนใหม่ก็มีมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันคนที่อยู่ไฟก็ยังมีไม่น้อย แต่ทั้ง ๒ วิธีต้องพักรักษาตัวอยู่ในห้องเดียวกัน เมื่อคนที่อยู่ไฟเห็นคนที่ไม่ได้อยู่ไฟไม่มีอันตรายแต่อย่างใด กลับสบายกว่าคนอยู่ไฟ แถมยังได้เงินทำขวัญลูกด้วย คนที่ขออยู่ไฟก็น้อยลงทุกทีจนหมดไปในที่สุด
การเริ่มต้นของโรงพยาบาลแห่งแรกด้วยความยากลำบากนี้ ทำให้พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน และได้รับโปรดเกล้าฯเป็นอธิบดีกรมพยาบาล ต้องรับภาระอย่างหนัก ทั้งงานด้านอื่นก็ยังเป็นอธิบดีอำนวยการหนังสือพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาและเลขานุการในพระองค์ด้วย ต้องเขียนร่างพระราชหัตถเลขาและพระราชนิพนธ์ตามตรัสบอกเสมอทุกคืน พอเช้าก็ต้องรีบมาบริหารโรงพยาบาล กลางวันก็ต้องเสด็จไปสำนักงานราชกิจจานุเบกษา ในไม่ช้าร่างกายก็ทรุดโทรม บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์เจ้าพี่เจ้าน้องทรงเป็นห่วง ทูลเตือนว่าให้คืนงานด้านอื่นไป เอาพละกำลังและเวลาไปทำโรงพยาบาลอย่างเดียวเถิด แต่พระองค์ศรีฯทรงตรัสว่า เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้งานอยู่ตราบใด จะไม่ยอมทิ้งพระเจ้าอยู่หัวเป็นอันขาด ไม่นานหมอก็ตรวจพบว่า พระปับผาสะหรือปอดของพระองค์ศรีฯ เป็นวัณโรค สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทราบก็ตกพระทัย ออกพระโอษฐ์ว่า “ไม่รู้เลยว่าใช้ศรีเกินกำลัง” ตอนนั้นพระองค์ศรีฯ สร้างวังยังไม่เสร็จประทับแพจอดที่บางยี่ขัน พอรู้ว่าประชวรด้วยวัณโรคจึงย้ายไปประทับที่ตึกเสาวภาคในโรงพยาบาลศิริราช ใครชวนให้ไปรักษาพระองค์ที่อื่นก็ไม่ยอม ตรัสว่าถ้ารักษาไม่หายก็จะขอตายในโรงพยาบาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปเยี่ยม ญาติมิตรก็ไปกันไม่ขาด จนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ พระชนมายุเพียง ๒๗ พรรษา เป็นอธิบดีกรมพยาบาลได้ไม่ถึง ๒ ปี
แม้โรงพยาบาลศิริราชจะเริ่มต้นด้วยเรือนไม้มุงหลังคาจาก แต่ก็มีผู้มีจิตศรัทธาช่วยสนับสนุนส่งเสริมมาตลอด ในปีแรกที่เปิดดำเนินการนั้น ตรงกับปีฉลองการดำรงราชสมบัติของสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งอังกฤษครบ ๕๐ ปีพอดี ชาวอังกฤษในกรุงเทพฯ ๓๓ คนจึงรวบรวมเงินมาได้ ๘๐๐ บาท ประสงค์จะสร้างอนุสรณ์ให้โรงพยาบาล ทางคณะกรรมการจึงสมทบอีก ๘๐๐ บาท สร้างตึกเฉลิมพระเกียรติให้ชื่อว่า ตึกวิคตอเรีย และในปีเดียวกันเจ้าภาพงานพระศพพระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ ได้บริจาคสร้างตึกเสาวภาคนารีรัตน์ขึ้นอีกหลัง และมีผู้บริจาคสร้างเพิ่มเติมมาตามลำดับจนถึงทุกวันนี้
เมื่อเปิดโรงพยาบาลศิริราชขึ้นแล้ว พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ อธิบดีกรมพยาบาลยังได้ตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นที่ริมแม่น้ำหน้าโรงพยาบาลศิริราช เพื่อสอนวิชาแพทย์แผนปัจจุบัน โดยมีนายแพทย์ ดี.เอช.เฮย์ ซึ่งเข้ามาเป็นนายแพทย์ใหญ่ฝ่ายฝรั่งแทนหมอกาแวน เป็นอาจารย์ ต่อมาในปลายปี พ.ศ. ๒๔๓๔ หมอ ยอร์ช บี.แมคฟาร์แลนด์ ซึ่งมีสัญชาติไทย เกิดที่เพชรบุรี โดยมีบิดามารดาเป็นมิชชันนารีอเมริกัน และไปศึกษาวิชาแพทย์ที่สหรัฐอเมริกากลับมา จึงเข้ารับหน้าที่เป็นแพทย์ใหญ่ของโรงพยาบาลศิริราชกับเป็นอาจารย์ของโรงเรียนแพทย์ด้วย ผลิตแพทย์แผนใหม่ชาวไทยขึ้นมาหลายรุ่น และยังแต่งตำราแพทย์เป็นภาษาไทยไว้หลายเล่ม ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นพระอาจวิทยาคม ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทวิทยาศรม จำกัด ด้วย
กิจการของโรงพยาบาลศิริราชดำเนินไปด้วยดี แต่ด้านโรงเรียนแพทย์ก้าวไปได้ช้ามาก เนื่องจากขาดครูอาจารย์ที่ศึกษาเล่าเรียนมาโดยเฉพาะ เป็นเหตุให้รัฐบาลต้องขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ให้เข้ามาปรับปรุงกิจการของโรงเรียนแพทย์ โดยกราบทูลสมเด็จพระบรมราชชนก เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ ซึ่งทรงลาออกจากราชการทหารเรือ เสด็จไปทรงศึกษาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทรงเป็นผู้เจรจาจนเป็นผลสำเร็จ มูลนิธิได้ส่งศาสตราจารย์ ดร.เอ.ยี.เอลลิส เข้ามาประเทศไทย พร้อมกับบุคลากรระดับศาสตราจารย์มาเป็นหัวหน้าภาควิชาการจำนวน ๖ คน เท่ากับจำนวนภาควิชาของโรงเรียนแพทย์ในขณะนั้น และปรับปรุงโรงเรียนเตรียมแพทย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย ได้ทุนก่อสร้างตึกตามแบบที่เหมาะเป็นห้องเรียนและห้องปฏิบัติการ ซื้อเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการแพทย์แผนปัจจุบัน จัดส่งอาจารย์และนักศึกษาไปดูงาน อบรมเฉพาะวิชาเพื่อให้กลับมาแทนคนของมูลนิธิ สมเด็จพระบรมราชชนกทรงสละทั้งกำลังพระวรกายและราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างตึกผู้ป่วย และร่วมกับโรงพยาบาลสร้างตึกอำนวยการ จัดส่งนักศึกษาไปเรียนเพิ่มเติม ทรงซื้อที่ดินและโรงเรือนของโรงเรียนวังหลังสร้างเป็นโรงเรียนและหอพักพยาบาล สละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จ้างพยาบาลชาวต่างประเทศมาปรับปรุงการพยาบาล ทรงอุทิศเวลาสอนวิชาชีววิทยาให้นักเรียนเตรียมแพทย์ที่ยังขาดครูอาจารย์
เพื่อให้ทรงมีความรู้มากขึ้น สมเด็จพระบรมราชชนกได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาแพทย์ศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตจากโรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ และเสด็จไปทรงตำแหน่งแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลแมคคอมิค จังหวัดเชียงใหม่ระยะหนึ่งด้วย
หลังสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ขณะพระชนมายุเพียง ๓๘ พรรษา บรรดาบุคคลที่เคยได้รับพระมหากรุณาจากพระองค์ ได้ร่วมกันสร้างตึก มหิดลวรานุสรณ์ขึ้นที่ ร.พ.ศิริราช พร้อมทั้งตั้งทุนการศึกษาให้นักศึกษาแพทย์ ซึ่งวงการการแพทย์ไทยได้ยกย่องพระองค์เป็น “พระบิดาแห่งวงการแพทย์ไทย”
โรงพยาบาลริมป้อมมหาไชย
ภายหลังการเปิดโรงพยาบาลศิริราช เมื่อเห็นว่ามีคนนิยมบ้างแล้ว กอมมิตตีจัดการโรงพยาบาลจึงได้จัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่บ้าน จีนดา นายอากร ริมคลองคูพระนครตรงหน้าวังบูรพาภิรมย์ เรียกชื่อในระยะต้นว่าโรงพยาบาลริมป้อมมหาไชย ต่อมาเรียกชื่อว่า “บูรพาพยาบาล” เปิดรับรักษาคนไข้ตั้งแต่เดือน 12 ปีชวด สัมฤทธิศก
โรงพยาบาลคนเสียจริต
หลังจากการจัดตั้งโรงพยาบาลศิริราช กรมพยาบาลได้ดำริที่จะจัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นอีก ประกอบกับได้มีสาเหตุเร่งเร้าให้ต้องเร่งจัดตั้งโรงพยาบาล กล่าวคือ ได้มีผู้ขอส่งคนป่วย “เสียจริต” ไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชอยู่เสมอ จึงมีการก่อสร้างโรงพยาบาลคนเสียจริต โดยได้บ้านเจ้าพยาภักดีภัทรากร(เจ้าสัวเกงซัว)ที่ปากคลองสาน ฝั่งธนบุรีตั้งเป็นโรงพยาบาลเปิดทำการรับคนไข้เมื่อ 1 พฤศจิกายน 2432 การจัดตั้งโรงพยาบาลในระยะแรกเป็นแต่เพียงนำคนเสียจริตจากที่ต่างๆ คือคนป่วยที่ชาวบ้านนำตัวมาฝากรักษา จากพลตระเวรหรือหัวเมืองหรือกระทรวงมหาดไทยนำมาฝาก หรือคนเสียจริตจากกองมหันตโทษ กองลหุโทษและศาลยุติธรรมนำมาฝากรักษา โรงพยาบาลทำได้เพียงนำคนเสียจริตเหล่านี้ขังไว้ในห้องซึ่งมีลูกกรง คนที่คลั่งอาละวาดก็ถูกต่อยให้สลบแล้วนำกลับไปขังไว้ บางคนก็ถูกล่ามโซ่ตรวน เนื่องจากสภาพการรักษาเช่นนี้ในเวลานั้นเป็นวิธีการปฏิบัติทั่วไป
โรงพยาบาลบางรัก
เกิดจากการที่มีเรือกลไฟอเมริกันเข้ามาจอดที่ท่าน้ำในกรุงเทพฯจำนวนมาก ชาวอเมริกันเหล่านี้รู้สึกว่าควรจะมีสถานที่รักษาความเจ็บป่วยของพวกกลาสีเรือ และชาวต่างประเทศในท้องถิ่น มีโรงพยาบาลตั้งขึ้นเพื่อรักษากลุ่มตนโดยเฉพาะ ดังนั้นหมอเฮย์จึงได้ขออนุญาตใช้บ้านที่ปากถนนสีลมต่อกับถนนเจริญกรุงใกล้ๆกับตลาดบางรักตั้งเป็นโรงพยาบาลขึ้นในลักษณะโรงพยาบาลส่วนตัวมีจุดมุ่งหมายเพื่อรับรักษาชาวต่างประเทศ ต่อมากรมพยาบาลได้โอนมาจัดการเองเรียกว่าโรงพยาบาลบางรัก และหมอเฮย์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหมอประจำโรงพยาบาลเช่นเดิม ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลเลิศสิน
โรงพยาบาลเทพศิรินทร์
ตั้งอยู่ที่ปากถนนหลวง ตรงข้ามวัดเทพศิรินทราวาส โดยอาศัยเรือนไม้สองชั้นที่ได้รับพระราชทานจากงานพระเมรุสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์สำหรับปลุกเป็นที่ทำการและเรือนคนไข้ โรงพยาบาลเทพศิรินทร์ปิดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2445 กรมพยาบาลได้ใช้สถานที่เป็นที่จำหน่ายยาฝรั่งของรัฐบาล ได้โอนเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปให้กับโรงพยาบาลสามเสนซึ่งตั้งขึ้นใหม่ในปีนั้น
โรงพยาบาลสามเสน
เป็นโรงพยาบาลโรงสุดท้ายที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นในกรุงเทพฯ ในพ.ศ. 2445 โดยโอนอุปกรณ์เครื่องใช้ทางการแพทย์จากโรงพยาบาลเทพศิรินทร์ โรงพยาบาลสามเสนตั้งอยู่ระหว่างถนนดวงเดือนนอกตรงปากถนนดาวข่างข้าม โรงพยาบาลนี้นภายหลังก็ได้ยกเลิกไป
กล่าวได้ว่า การดำเนินงานของโรงพยาบาลในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 เจริญเป็นปึกแผ่น ได้มีการขยายจัดตั้งโรงพยาบาลออกไปอีกนอกเหนือจากที่กล่าวถึงข้างต้น เช่น โรงพยาบาลเลี้ยงเด็ก โรงเลี้ยงคนชรา และโรงเรียนหัดวิชาแพทย์ เป็นต้น