การฟอกตับ (Liver Dialysis)

การฟอกตับ แบ่งออกได้ 2 กรณี คือ การรักษาในภาวะตับวายเฉียบพลัน และการประคับประคองตับที่เสียหายหนักเพื่อรอการปลูกถ่ายตับต่อไป

การปลูกถ่ายตับใช้ในกรณีที่ตับไม่สามารถใช้งานได้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องรอตับที่เหมาะสมเพื่อทำการปลูกถ่ายตับต่อไป ซึ่งการฟอกตับจะทำเมื่อเกิดภาวะตับวายเฉียบพลันซึ่งมักจะเป็นผู้ป่วยไอซียูเท่านั้น เป็นการช่วยทดแทนการทำงานของตับเพื่อรอให้ตับฟื้นตัว หรือเป็นการประคับประคองตับที่เสียหายเพื่อรอการปลูกถ่าย

แม้ว่าการฟอกตับจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการแพทย์ แต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนักในปัจจุบัน ในฐานะโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ชั้นนำของประเทศ จำเป็นต้องเผยแพร่เทคนิคนี้เพื่อให้โรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศซึ่งล้วนมีเครื่องมือสำหรับ ฟอกไตอยู่แล้ว สามารถดัดแปลงเครื่องมือดังกล่าวให้สามารถฟอกตับได้ด้วย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้รับผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่มีภาวะตับวายเข้ารับการรักษามากที่สุดในประเทศไทย ทำให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นศูนย์กลางในการอบรมแพทย์ที่สนใจเทคนิคการฟอกตับทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญที่สุด คือ การช่วยให้ผู้ป่วยพ้นจากอาการเจ็บป่วยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น.

ความแตกต่างของขั้นตอนการฟอกตับและการฟอกไต

ทั้ง 2 วิธีใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ชนิดเดียวกัน แต่ต่างกันที่เทคนิคและน้ำยาที่ใช้สำหรับการฟอกตับเท่านั้น ส่วนข้อแตกต่างอย่างชัดเจนในการฟอกตับและฟอกไต คือ การฟอกไตจะฟอกอย่างต่อเนื่องในผู้ป่วยไตวายในภาวะวิกฤต และผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ในขณะที่การฟอกตับจะทำเมื่อเกิดภาวะตับวายเฉียบพลันซึ่งมักจะเป็นผู้ป่วยไอซียูเท่านั้น ซึ่งการฟอกตับจะเป็นการช่วยทดแทนการทำงานของตับเพื่อรอให้ตับฟื้นตัว หรือเป็นการประคับประคองตับที่เสียหายเพื่อรอการปลูกถ่ายตับ บ่อยครั้งที่ในระหว่างฟอกตับผู้ป่วยบางรายมีอาการดีขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องรอปลูกถ่ายตับ ระยะเวลาที่ใช้ในการฟอกตับแต่ละครั้งจะแตกต่างกันออกไปตามอาการของผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ในกรณีผู้ป่วยที่รับประทานยาเกินขนาดจนทำให้ตับวายเฉียบพลัน หากผู้ป่วยไม่ได้รับการฟอกตับอาจเสียชีวิตได้ แต่การฟอกตับสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นภายในระยะเวลาประมาณ 3 วัน กล่าวได้ว่าการฟอกตับช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยได้อย่างแท้จริง

[Total: 3 Average: 4.7]