การส่องกล่องหลอดลม (Bronchoscopy)

การส่องกล้องตรวจหลอดลม (Bronchoscopy) เป็นการตรวจดูกล่องเสียง (larynx) หลอดลมคอ (trachea) และหลอดลม    (bronchi) โดยส่องกล้องผ่านทางกล่องส่องหลอดลมที่เป็นพลาสติกอ่อน (flexible  fiber optic  bronchoscope) หรือเป็นโลหะแข็ง (rigid  metral  bronchoscope) การตรวจด้วย flexible  fiber  optic  bronchoscope จะมองเห็นภาพได้กว้างกว่า และนิยมใช้มากกว่า ส่วน rigid  metral  bronchoscope ใช้เพื่อนำเอาสิ่งแปลกปลอมออก ตัดรอยโรคที่อยู่ในหลอดลมออกเพื่อควบคุมการไอเป็น   เลือดจำนวนมาก ๆ ใส่คีบหนีบ (forceps) หรือสายสวน (catheter) ผ่านกล้องเพื่อตัดชิ้นเนื้อตรวจดูเซลล์

วัตถุประสงค์
1.เพื่อดูก้อนเนื้องอก ดูการอุดกั้น สิ่งขับหลั่ง เลือดออก หรือสิ่งแปลกปลอมในท่อหลอดลม
2.เพื่อช่วยวินิจฉัยมะเร็งหลอดลม (Bronchogenic  carcinoma) วัณโรคปอด (Tuberculosis) และโรคปอดชนิดอื่น ๆ 
3.เพื่อนำเอาสิ่งแปลกปลอมก้อนมะเร็ง  หรือก้อนเนื้องอก เสมหะที่อุดตันและสิ่งขับหลั่งที่อยู่ในหลอดลมที่มีจำนวนมากออกจากหลอดลม

การเตรียมผู้ป่วย
1.บอกผู้ป่วยว่าการตรวจนี้ใช้ตรวจทางเดินหายใจส่วนล่าง
2.บอกวิธีการตรวจ  และบอกผู้ป่วยให้งดน้ำและอาหารเป็นเวลา 6 – 12 ชั่วโมงก่อนตรวจเพื่อป้องกันการสำลัก เพราะรีเฟล็กซ์ (reflex) การไอถูกกดไว้ด้วยยาชา
3.บอกผู้ป่วยว่าใครจะเป็นผู้ตรวจ  ตรวจที่ไหน และวิธีการตรวจเป็นอย่างไร เช่น การตรวจนี้จะทำในห้องมืด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยคลายความวิตกกังวลและความกลัว
4.บอกผู้ป่วยว่า  ผู้ป่วยจะต้องเอกซเรย์ทรวงอก  และตรวจเลือด  ก่อนและหลังส่องกล้องตรวจหลอดลมตามความเหมาะสม
5.บอกผู้ป่วยว่า  ผู้ป่วยอาจได้รับยานอนหลับทางหลอดเลือดดำ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย
6.การตรวจนี้ไม่ได้ให้ยาสลบ  แต่จะให้ยาชาเฉพาะที่พ่นทางจมูกและปากเพื่อกดรีเฟล็กซ์การกลืน (gag reflex) ผู้ป่วยจะรู้สึกขม ๆ ในคอและอาจรู้สึกไม่สุขสบายระหว่างการตรวจ
7.บอกผู้ป่วยว่า  ระหว่างตรวจผู้ป่วยจะได้รับการให้ออกซิเจนผ่านทางกล้องส่องหลอดลม
8.ให้ผู้ป่วยหรือญาติเซ็นใบยินยอมรับการตรวจรักษาให้เรียบร้อยก่อนตรวจ
9.ตรวจสอบประวัติการแพ้ยาชา
10.วัดสัญญาณชีพไว้ก่อนตรวจ
11.ให้ยานอนหลับก่อนตรวจ
12. หากผู้ป่วยใส่ฟันปลอม ให้ถอดฟันปลอมออกก่อนให้ยานอนหลับ

การตรวจและการดูแลภายหลังตรวจ
1.จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย
2.บอกผู้ป่วยให้อยู่ในท่าผ่อนคลาย แขนอยู่ข้างลำตัว  และหายใจผ่านทางจมูก
3.อาจให้ออกซิเจนแคนนูลา (oxygen  cannula) หากจำเป็นให้นำฟันปลอมออกด้วย
4.หลังจากใช้ยาชา เช่น  lidocaine (xylocaine) พ่นในคอผู้ป่วย หรือหยดยาไปที่ฝาปิดกล่องเสียง (epiglottis) และสายเสียง (vocal  cords) และในหลอดลมคอ (trachea) เพื่อกดการไอ และลดความไม่สุขสบาย รอให้ยาชาออกฤทธิ์ จึงใส่กล้องส่องหลอดลมเข้าทางปากหรือจมูก เมื่อกล้องเข้าไปถึงสายเสียง ให้พ่นยาชา lidocaine 2 – 4% ประมาณ 3-4 มิลลิลิตร ผ่านทางท่อของกล้องไปยังสายเสียง เพื่อให้บริเวณนี้ ชามากขึ้น แพทย์จะดูรูปร่างของหลอดลมคอและหลอดลม สังเกตสีของเยื่อบุบริเวณที่มีก้อนหรือมีการอักเสบ
5.หากสงสัยว่าบริเวณใดมีความผิดปกติ  อาจใช้คีม (forceps) ตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจ อาจดูดเอาเซลล์บริเวณที่มีรอยโรค หรือดูดเอาสิ่งแปลกปลอมหรือเสมหะออก ดูดล้างหลอดลม เพื่อนำมาวินิจฉัยหาสาเหตุของการอักเสบ ภูมิแพ้ หรือเพื่อล้างเอา เสมหะที่เหนียวข้นออก
6.หลังจากใส่ชิ้นเนื้อหรือสิ่งส่งตรวจลงในภาชนะแล้ว เขียนระบุให้ให้ละเอียดตามที่ห้องปฏิบัติการกำหนดไว้และส่งไปยังห้องตรวจทันที
7.การส่องกล้องดูดหลอดลมคออาจจะมีการถ่ายภาพ เพื่อประเมินรอยโรคที่ตัดชิ้นเนื้อบริเวณถุงลมปอดไปตรวจ
8.บันทึกสัญญาณชีพอย่างน้อยทุก 15 นาทีจนคงที่ แล้วบันทึกทุก 30 นาที 4 ชั่วโมง ทุก 1 ชั่วโมงอีก 4 ชั่วโมงต่อมา และทุก 4 ชั่วโมงอีก 24 ชั่วโมง หากพบสิ่ง  ผิดปกติ ต้องรายงานแพทย์ทราบทันที
9.ผู้ป่วยที่รู้สึกตัวดีจัดให้อยู่ในท่า  semi – Fowler’s  position  หากผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ให้นอนตะแคงยกศีรษะให้สูงเล็กน้อย  เพื่อป้องกันการสำลัก
10.ให้ชามรูปไต  หรือภาชนะแก่ผู้ป่วยสำหรับใส่อาเจียนหรือบ้วนน้ำลายหรือเสมหะที่มีเลือดปน แนะนำผู้ป่วยให้บ้วนน้ำลายไม่ควรกลืน และสังเกตเสมหะว่ามีเลือด ปนหรือไม่ หากมีเลือดออกมากต้องรายงานให้แพทย์ทราบทันที
11. หากผู้ป่วยที่ได้รับการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจว่าจะมีน้ำยาล้างหลอดคอ ซึ่งการไออาจทำให้ก้อนเลือดจากตำแหน่งที่ตัดชิ้นเนื้อหลุดออก และเป็นสาเหตุให้มีเลือดออก
12.แนะนำให้ผู้ป่วยงดสูบบุหรี่จนกว่าสัญญาณชีพจะคงที่ และไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ แล้ว
13.รายงานให้แพทย์ทราบทันที  ที่คลำได้เสียงกรอบแกรบ บริเวณใต้ผิวหนัง (subcutaneous  crepitation) บริเวณรอบ ๆ คอและหน้าผู้ป่วย ซึ่งอาจจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าหลอดลมคอและหลอดลมมีรอยรั่ว
14.การระมัดระวังทางคลินิก คือ  ดู ฟัง  และรายงานให้แพทย์ทราบทันทีถ้ามีอาการหายใจลำบากด้วยสาเหตุจากกล่องเสียงบวมหรือกล่องเสียงหดเกร็ง เช่น  ฟังได้เสียงฮื้ดในกล่องเสียงขณะหายใจเข้า (laryngeal stridor) และหายใจลำบาก (dyspnea) สังเกตอาการของออกซิเจนในเลือดต่ำ (hypoxemia) มีลมในช่อเยื่อหุ้มปอด (pneumothorax) หลอดลมหดเกร็ง (bronchospasm) และมีเลือดออก (bleeding)
15.ให้ผู้ป่วยงดน้ำงดอาหาร  เพื่อหลีกเลี่ยงการสำลัก จนกระทั้งผู้ป่วยมีรีเฟล็กซ์การกลืนกลับมาอีกครั้ง (ตามปกติ 1 – 2 ชั่วโมง) หลังจากนั้นผู้ป่วยจึงจะสามารถรับประทานอาหารได้ โดยให้รับประทานทีละน้อย
16.บอกให้ผู้ป่วยแน่ใจว่าอาการเสียงแหบ ไม่มีเสียง และเจ็บคอจะเป็นเพียงชั่วคราว ในช่วงนี้ให้ผู้ป่วยอมลูกอมหรือจิบน้ำทีละน้อย จนกว่าจะมีรีเฟล็กซ์การกลืน กลับมาอีกครั้ง
           
ข้อควรระวัง

1.ผู้ป่วยที่มีภาวการณ์หายใจวาย (Respiratory  failure) ทำให้ผู้ป่วยหายใจไม่พอ จึงควรให้ผู้ป่วยใช้เครื่องหายใจก่อนทำการตรวจด้วยกล้อง
ส่องดูดหลอดลม(bronchoscopy)
2.ส่งสิ่งส่งตรวจไปยังห้องตรวจทันที

ผลการตรวจที่เป็นปกติ
หลอดลมคอปกติ ประกอบด้วย กล้ามเนื้อเรียบที่มีกระดูกอ่อนเป็นรูปวงแหวนแบบตัวซี(C – shaped  ring)  มีขนาดสม่ำเสมอแต่ละช่วงเท่ากัน     และไม่มีขนกวัดที่เยื่อบุผนังหลอดลมคอ หลอดลมมีโครงสร้างที่เห็นได้เหมือนกับหลอดลมคอ หลอดลมด้านขวาใหญ่กว่าด้านซ้ายเล็กน้อย และอยู่ในแนวตั้งตรงมากกว่าด้านซ้าย จะเห็นหลอดลมฝอยเล็กๆ อยู่บริเวณหลอดลมใหญ่
ผลการตรวจที่ผิดปกติ
              ผนังหลอดเลือดที่ผิดปกติจะพบว่ามีการอักเสบบวม  มีกระดูกอ่อนโผล่ออกมา  มีแผล มีต่อมเมือกขนาดใหญ่หรือมีต่อมน้ำเหลือง   (lymph   node)โตบริเวณเยื่อบุและมีก้อนเนื้องอก (tumors) ด้านในหลอดลมคอมีความผิดปกติ เช่น  ตีบ  ขยาย  ขนาดของหลอดลมฝอยไม่สม่ำเสมอ และมีการแยกเป็นสองส่วนที่ผิดปกติเนื่องจากมีส่วนยื่น เป็นกระพุ้ง (diverticulum)
              มีสิ่งผิดปกติในหลอดลมคอและแขนงหลอดลม เช่น  เลือด  เสมหะแคลเซียม  สิ่งแปลกปลอม  เป็นต้น
              ผลการตรวจเนื้อเยื่อหรือเซลล์อาจบ่งชี้ถึงโรคปอด มะเร็งหลอดลม(Bronchogenic  carcinoma) และพบเซลล์มีลักษณะที่ผิดปกติ      ซึ่งใช้เป็นส่วนประกอบร่วมกับอาการและอาการแสดงทางคลินิก

[Total: 2 Average: 5]