หากสงสัย ควรส่งโรงพยาบาล อาจต้องเอกซเรย์ กระดูกสันหลัง ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ถ้าจำเป็นอาจต้องทำการถ่ายภาพรังสีไขสันหลังโดยการฉีดสารทึบรังสี (myelography)
การรักษา ในระยะแรก แพทย์จะให้การรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัดก่อน ได้แก่ การให้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่ สตีรอยด์ เป็นหลัก ซึ่งนอกจะช่วยบรรเทาปวดแล้ว ยังลดการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบๆ รากประสาททำให้อาการทุเลาได้ ในรายที่มีการตึงตัวหรือเกร็งตัวของ กล้ามเนื้อหลังให้ยา คลายกล้ามเนื้อ หรือยากล่อม ประสาท เช่น ไดอะซีแพม ร่วมด้วย
ในรายที่มีอาการเกิดขึ้นฉับพลันและปวดรุนแรง แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยนอนพักในท่านอนหงายบนที่นอนแข็งตลอดเวลา (ลุกเฉพาะกินอาหารและเข้าห้องน้ำ) 1-2 วัน จะช่วยให้อาการทุเลาได้เร็ว ไม่ควรนอนติดต่อนานหลายวัน อาจทำให้กล้ามเนื้อหลังอ่อนแอ
บางรายแพทย์อาจให้การรักษาทางกายภาพบำบัด (เช่น ประคบด้วยความเย็นและความร้อน ใช้น้ำหนักถ่วงดึง) กระตุ้นปลายประสาทด้วยไฟฟ้า (TENS) การฝังเข็ม เป็นต้น
บางรายแพทย์อาจให้ผู้ป่วยใส่ “ใส่เสื้อเหล็ก” หรือ.“ปลอกคอ”
ในรายที่มีอาการปวดมากและไม่สามารถบรรเทา ด้วยยาต้านอักเสบที่ไม่ใช้สตีรอยด์และยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล แพทย์อาจพิจารณาให้ยาแก้ปวดที่แรงขึ้น เช่น โคเออีน (codeine) กาบาเพนทิน (gabapentin) เป็นต้น บางรายอาจให้เพร็ดนิโซโลน หรือฉีดสตีรอยด์เข้าบริเวณเนื้อเยื่อรอบๆ รากประสาทที่อักเสบเพื่อลดการอักเสบ
สำหรับหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนที่ไม่รุนแรง อาการมักจะดีขึ้นภายใน 4-6 สัปดาห์ เนื่องจากหมอนรองกระดูกที่ไหลเลื่อนออกมาข้างนอก มักจะยุบตัวลงจนแรงกดต่อรากประสาทไปได้เอง
ในรายที่ให้การรักษาด้วยยาและกายภาพบำบัด 3-6 เดือนแล้วไม่ได้ผล ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ หรือมีภาวะแทรกซ้อน (เช่น กล้ามเนื้อลีบหรืออ่อนแรง มีอาการชามาก ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้) ก็อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อปลดเปลื้องการกดรากประสาท และอาจเชื่อมข้อต่อกระดูกสันหลังให้แข็งแรง ในรายที่มีกระดูกสันหลังเคลื่อน (spondylolisthesis) การผ่าตัดมีอยู่หลายวิธีรวมทั้งวิธีใช้กล้องส่อง (laparoscopic surgery) สำหรับโพรงกระดูกสันหลังแคบ ในปัจจุบันมีวิธีการผ่าตัดขยายโพรงกระดูกสันหลังโดยการส่องกล้องจุลทรรศน์ (microlumbar decompression) ซึ่งได้ผลดีและมีความปลอดภัยมากขึ้น
โดยทั่วไป ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดมีประมาณร้อยละ 10-20 ซึ่งส่วนใหญ่มักจะได้ผลดี แต่มีประมาณร้อยละ 10 ที่อาจมีอาการปวดเรื้อรังต่อไป ในรายที่เกิดภาวะแทรกซ้อนอยู่นานก่อนผ่าตัด อาการก็อาจไม่ดีขึ้นหลังผ่าตัด