การรักษา โรคน้ำคั่งในโพรงสมอง

ในการวินิจฉัย แพทย์จะทำการซักประวัติ ดูอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือ CT Scan หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง หรือ MRI จะพบโพรงน้ำในสมองมีขนาดใหญ่ และพบร่องผิวสมองบริเวณส่วนบนของศีรษะ และบริเวณแนวกลางสมองมีลักษณะแคบและแน่น ร่วมกับมีความผิดปกติของการเดิน ในผู้ป่วยบางรายเราจะใช้การเจาะระบายน้ำจากโพรงสันหลังและผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ก็เป็นข้อบ่งชี้ว่าเป็นโรคนี้

การรักษาโรคนี้แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ

  • ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงในการผ่าตัด เมื่อมีการเจาะระบายน้ำในโพรงสมองแล้ว จะให้การรักษาด้วยการรับประทานยาลดการสร้างน้ำในโพรงสมอง ซึ่งผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงมักจะดีขึ้น
  • การผ่าตัดวางสาย/ท่อระบายน้ำจากโพรงน้ำในสมองลงมาสู่ช่องท้อง ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่มีบาดแผลเล็กเกือบจะไม่มีการสูญเสียเลือด และใช้เวลาผ่าตัดน้อย ดังนั้นจึงเป็นการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงต่ำ การรักษาด้วยการผ่าตัดนี้มักจะทำก็ต่อเมื่อการตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาไม่ดีนัก หรือมีความจำเป็นต้องเจาะระบายน้ำจากโพรงสมองซ้ำบ่อยๆ หรือกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงตั้งแต่ตรวจพบ ซึ่งหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการเดิน แต่ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาล่าช้า ก็จะส่งผลให้ภาวะนี้เป็นมากขึ้น จนผู้ป่วยเดินไม่ได้ สมองเสื่อมรุนแรง และต้องนอนติดเตียงในที่สุด
[Total: 0 Average: 0]