การรักษา วัณโรคปอด

หากมีอาการน่าสงสัย เช่น มีไข้นานเกิน 1 สัปดาห์น้ำหนักลด ไอมีเสมหะเหลืองหรือเขียวเกิน 3 สัปดาห์ ไอเป็นเลือด เป็นต้น ควรส่งผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาล

การวินิจฉัย วินิจฉัยโดยการเอกซเรย์ปอด และการตรวจเสมหะโดยวิธีย้อมสีแอซิดฟาสต์ (acid faststain) อย่างน้อย 3 ครั้ง จะวินิจฉัยเป็นวัณโรคปอดเมื่อตรวจเสมหะให้ผลบวก (พบเชื้อวัณโรค) อย่างน้อย 2 ครั้ง หรือตรวจเสมหะให้ผลบวก 1 ครั้ง ร่วมกับมีรอยโรคในปอดจากภาพถ่าวรังสี ถ้าตรวจเสมหะให้ผลลบ (ไม่พบเชื้อวัณโรค) แพทย์จะพิจารณาจากภาพถ่ายรังสีเป็นสำคัญ

บางกรณีอาจต้องทำการทดลองสอบผิวหนังดังที่เรียกว่า การทดสอบทูเบอร์คูลิน (tuberculin test) นำเสมหะไปเพาะหาเชื้อ การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อวัณโรคโดยเทคนิค PCR (polymerase chain reaction)  เป็นต้น

การรักษา เมื่อตรวจพบว่าเป็นวัณโรคปอด ควรให้การดูแลรักษา ดังนี้ 

  1. ให้ยารักษาวัณโรคหลายชนิดร่วมกัน สำหรับผู้ป่วยใหม่ (เพิ่งรักษาเป็นครั้งแรก) นิยมใช้สูตรยา 6 เดือน โดย 2 เดือนแรกให้ยา 4 ชนิด ได้แก่ ไอเอ็นเอช ไรแฟมพิซิน ไฟราซินาไมด์ และอีแทมบูทอล บางกรณีอาจใช้สเตรปโตไมซินฉีดแทนอีแทมบูทอล แล้วต่อด้วยยา 2 ชนิด อีก 4 เดือน ได้แก่ ไอเอ็นเอชกับไรแฟมพิซิน
  2. ให้การรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ยาบำรุงโลหิต ถ้าซีด วิตามีนรวม ถ้าเบื่ออาหาร เป็นต้น
  3. ทำการตรวจเสมหะเพื่อติดตามผลการรักษาเมื่อกินยาครบ 2 เดือน 5 เดือน และเมื่อสิ้นสุดการรักษา (6 เดือน หรือ 9 เดือน และเมื่อสิ้นสุดการอาจตรวจเสมหะทุกเดือนก็ได้
  4. ถ้ามีภาวะแทรกซ้อน เช่น ไอออกมาเป็นเลือดปริมาณมาก หายใจหอบเหนื่อย มีภาวะมีน้ำหรือลมในโพรงเยื่อหุ้มปอด มีภาวะขาดอาหารรุนแรง เป็นต้น อาจต้องรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาลจนกว่าจะดีขึ้น
  5. ถ้าสงสัยเป็นเอดส์  ร่วมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ควรเจาะเลือดตรวจหาเชื้อเอชไอวี

                  ผู้ป่วยวัณโรคปอดที่เป็นเอดส์และกินยาต้านไวรัสเอดส์อยู่ ซึ่งมีข้อควรระวังในการใช้ยาไรแฟมพิซิน จะใช้สูตรยา 9 เดือน โดย 2 เดือนแรกให้ยา 4 ชนิด ได้แก่ ไอเอ็นเอช อีแทมบูทอล สเตรปโตไมซิน และไพราซินาไมด์ และอีก 7 เดือนต่อมาให้ยา 3 ชนิดได้แก่ ไอเอ็นเอช สเตรปโตไมซิน และไพราซินาไมด์ สัปดาห์ละ 3 ครั้ง

[Total: 1 Average: 5]