การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง Echocardiogram

ECHO คือ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram หรือ Echocardiography) ใช้หลักการสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูงที่ปลอดภัย โดยปล่อยคลื่นเสียงจากหัวตรวจ (Transducer) ซึ่งดูคล้ายไมโครโฟนผ่านผนังทรวงอกเข้าไปถึงหัวใจ เมื่อคลื่นเสียงผ่านอวัยวะต่าง ๆ ก็จะเกิดการสะท้อนกลับที่แตกต่างกันระหว่างน้ำกับเนื้อเยื่อ คอมพิวเตอร์จะนำสัญญาณเหล่านั้นมาแปลงเป็นภาพแสดงบนหน้าจอ 

ชนิดของเครื่อง ECHO  

  • Transthoracic Echocardiogram (TTE) เป็นการทำ Echocardiogram ที่นิยมมากที่สุดเพราะทำได้ง่าย ค่าใช้จ่ายต่ำ มีวิธีการตรวจคือใช้หัวเครื่องตรวจผ่านผนังทรวงอกเป็นอุปกรณ์ไม่มีความแหลมกดบริเวณหน้าอกและขยับไปมาตามตำแหน่งที่ต้องการให้เห็นภาพ
  • Transesophageal Echocardiogram เป็นการส่องกล้องผ่านทางเดินอาหาร เนื่องจากทางเดินอาหารอยู่ด้านหลังของหัวใจ ในระหว่างการตรวจเครื่อง ECHO จะส่งคลื่นเสียงจะสะท้อนเป็นภาพของหัวใจขณะปั๊มเลือดผ่านลิ้นหัวใจซึ่งทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยความผิดปกติได้ว่าเกิดจากความผิดปกติที่ผนังหัวใจ หรือลิ้นหัวใจ 

ประโยชน์ของการตรวจด้วยเครื่อง ECHO

การใช้เครื่อง ECHO นี้ แพทย์สามารถดูขนาดของห้องหัวใจตามแรงการบีบตัวของกล้ามเนื้อ การทำงานของหัวใจ รวมถึงการวินิจฉัยโรค ความรุนแรงของโรค ตลอดจนการติดตามผลการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเหนื่อย หอบ ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการทำงานของลิ้นหัวใจ การไหลเวียนของเลือดในหัวใจ การเกิดลิ่มเลือดในหัวใจ เป็นต้น

Echocardiogram บอกอะไรกับเรา

  • เพื่อประเมินดูขนาดของห้องหัวใจทั้ง 4 ห้อง ว่ามีภาวะหัวใจโตหรือเปล่ารวมถึงประเมินความหนาของกล้ามเนื้อหัวใจ
  • เพื่อประเมินดูการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างว่ามีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงจากภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตันหรือเปล่า
  • ค่าที่เราได้จากการประเมินการบีบตัวของหัวใจ ที่ได้ยินกันอยู่เป็นประจำ คือ EF ย่อมาจาก Ejection Fraction เป็นค่าที่ใช้
  • บอกสัดส่วนความสามารถในการบีบตัวของหัวใจ
  • เพื่อประเมินดูการทำงานของลิ้นหัวใจว่ามีโรคของลิ้นหัวใจตีบหรือลิ้นหัวใจรั่วหรือเปล่า
  • เพื่อประเมินดูว่ามีก้อนเนื้อหรือก้อนลิ่มเลือดในห้องหัวใจหรือลักษณะของลิ้นหัวใจติดเชื้อหรือเปล่า
  • เพื่อประเมินดูโรคของเยื่อหุ้มหัวใจ (Pericardium) เช่น เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง ภาวะมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจจนทำให้เกิดการบีบรัดหัวใจ
  • ใช้ประเมินดูโรคของหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนต้น (Proximal Ascending Aorta) เช่น โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาดแบบเฉียบพลัน (Acute Aortic Dissection)
  • เพื่อประเมินโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจพิการแต่กำเนิด

นอกจากนี้การใช้คุณสมบัติทางฟิสิกส์ที่เรียกว่า Doppler Ultrasound ทำให้เราทราบทิศทางการไหลและความเร็วในการเคลื่อนไหวของเลือด ใช้ประเมินเรื่องการคลายตัวของหัวใจ และประเมินระดับความรุนแรงของการตีบหรือรั่วของลิ้นหัวใจ

ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนจากการตรวจ Echocardiogram

การตรวจ Echocardiogram ถือว่าเป็นการตรวจที่มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง ยังไม่เคยมีรายงานถึงอันตรายจาการ ใช้คลื่นเสียงที่ระดับ ความถี่ที่ใช้ในการตรวจด้วย Echocardiogram

การตรวจด้วย Transthoracic Echocardiogram เป็นการตรวจที่ถือว่าแทบจะไม่มีความเสี่ยง ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บหน้าอก บ้างบริเวณที่ต้องใช้ แรงกดจาก Transducer เพื่อทำให้เห็นภาพได้ชัดเจน ผู้ตรวจสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้หากมีอาการ เจ็บบริเวณที่โดนกด

การตรวจด้วย Transesophageal Echocardiogram สามารถพบอาการที่ไม่พึงปรารถนาได้มากกว่าแต่อาจมีภาวะบางชนิดเช่น 

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • รู้สึกรำคาญ หรือมีอาการระคายเคืองบริเวณปากและลำคอ
  • อึดอัด หายใจลำบาก
  • เลือดออกเล็กน้อยบริเวณช่องปากหรือลำคอ
  • ชีพจรเต็นเร็วหรือเต้นช้าผิดปกติ
  • ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ซึ่งพบได้น้อยมาก คือ หลอดอาหารเป็นแผลหรือหลอดอาหารทะลุ

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ หากท่านมีโรคหรืออาการที่ผิดปกติดังนี้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที ก่อนทำการตรวจ 

  • มีประวัติเคยได้รับการฉายแสงที่บริเวณลำคอหรือหน้าอก
  • โรคของหลอดอาหารต่าง ๆ  เช่น โรคหลอดอาหารตีบ โรคหลอดอาหารเป็นแผลรุนแรง โรคหลอดเลือด  โป่งพองบริเวณหลอดอาหาร
  • โรคที่เกี่ยวเนื่องกับกระดูกสันหลังบริเวณคอ
  • โรคที่เกี่ยวข้องกับการกลืนลำบาก
  • โรคที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะการแข็งตัวของเลือดหรือทานยากันการแข็งตัวของเลือด
[Total: 0 Average: 0]