กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นโรคที่พบได้บ่อย พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายหลายเท่า เนื่องจากท่อปัสสาวะ ของผู้หญิงสั้น และอยู่ใกล้ทวารหนักซึ่งเป็นแหล่งที่มีเชื้อโรคมาก เชื้อโรคจากบริเวณดังกล่าวจึงเข้าทางท่อ ปัสสาวะของผู้หญิงได้ง่ายกว่าผู้ชาย

                ผู้หญิงแทบทุกคนมีโอกาสเป็นโรคนี้ ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยสูงอายุ พบมากในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์) หรือผู้หญิงที่ชอบอั้นปัสสาวะนาน ๆ

                ผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคนี้น้อยมาก ถ้าพบมักมีความผิดปกตอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ต่อมลูกหมากโต เนื้องอกกระเพาะปัสสาวะ ก้อนเนื้องอกในช่องท้อง มีความผิดปกติทางโครงสร้างของทางเดินปัสสาวะ

สาเหตุ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

                ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มแกรมลบ (ที่พบในลำไส้ของคนเรา) เช่น อีโคไล เคล็บซิลลา สูโดโมแนส เอนเทอโรแบกเตอร์  (enterobacter) เป็นต้น เชื้อโรคเหล่านี้มีมากบริเวณทวารหนัก แล้วปนเปื้อนผ่านเข้าท่อปัสสาวะเข้ามาในกระเพาะปัสสาวะ

                อาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยเบาหวานนิ่วกระเพาะปัสสาวะ ผู้ป่วยที่ถ่ายปัสสาวะไม่ได้เนื่องจาก เป็นอัมพาต หรือพบภายหลังการสวนปัสสาวะภาวะ อุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ เช่น ต่อมลูกหมากโต  มะเร็งต่อมลูกหมาก เนื้องอกกระเพาะปัสสาวะ เนื้องอกมดลูกก้อนเนื้องอกในช่องท้องภาวะตั้งครรภ์ เป็นต้น

                ผู้หญิงที่แต่งงานใหม่หรือหลังร่วมเพศ อาจมีอาการ ขัดเบาแบบกระเพาะปัสสาวะอักเสบแพทย์เรียกว่า โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากฮันนีมูน (honeymoon’s cystitis) สาเหตุเกิดจากการฟกซ้ำจากการร่วมเพศ แล้วทำให้มีอาการอักเสบของท่อปัสสาวะ

อาการ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

                ปัสสาวะกะปริดกะปรอย (ออกทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง) รู้สึกปวดขัดหรือแสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ อาจมีอาการปวดที่ท้องน้อยร่วมด้วยปัสสาวะอาจมีกลิ่นเหม็นสีมักจะใส แต่บางรายอาจขุ่นหรือมีเลือดปน

                อาการอาจเกิดขึ้นหลังอั้นปัสสาวะนาน ๆ หรือหลังร่วมเพศ

                ในเด็กเล็กอาจมีอาการปัสสาวะรดที่นอน อาจมีไข้ เบื่ออาหาร และอาเจียน

การป้องกัน กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

  1. กระเพาะปัสสาวะอักเสบ พบเป็นสาเหตุอันอับแรก ๆ ของการขัดเบา แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีโรคอีกหลายชนิดที่อาจมีอาการแสดงคล้ายโรคนี้ได้อีก ดังนั้น ก่อนให้การรักษาโรคนี้ควรซักถามประวัติอาการอย่างถี่ถ้วน 
  2. ในเด็กเล็กที่มีอาการปัสสาวะรดที่นอนบ่อยหรือมีไข้ และอาเจียนโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรนึกถึงโรคนี้ไว้เสมอการตรวจปัสสาวะจะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้แน่ชัด
  3. ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ ควรดื่มน้ำมาก ๆ (ประมาณ วันละ 3-4 ลิตร) เพื่อช่วยขับเชื้อโรคออก และช่วยลด อาการปวดแสบปวดร้อนเวลาปัสสาวะ

ผู้ที่เคยเป็นโรคนี้ เมื่อรักษาหายแล้วควรป้องกัน มิให้เป็นซ้ำโดย

  1. พยายามดื่มน้ำมาก ๆ และอย่าอั้นปัสสาวะ  ควรฝึกถ่ายปัสสาวะในห้องน้ำนอกบ้าน หรือระหว่างเดินทางได้ทุกที่ การอั้นปัสสาวะทำให้เชื้อโรคอยู่ในกระเพาะปัสสาวะได้นานจนสามารถเจริญแพร่พันธุ์ประกอบกับในภาวะที่กระเพาะปัสสาวะยืดตัว ความสามารถในการจัดเชื้อโรคของเยื่อบุผิวกระเพาะปัสสาวะลดน้อยลง จึงทำให้ เกิดอาการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะได้ง่ายขึ้น 
  2. หลังถ่ายอุจาระ ควรใช้กระดาษชำระเช็ดทำความสะอาดจากข้างหน้าไปข้างหลัง เพื่อป้องกันมิให้นำ เชื้อโรคจากบริเวณทวารหนักเข้าสู่ท่อปัสสาวะ
  3. สำหรับอาการขัดเบาหลังร่วมเพศ (โรคกระเพาะ ปัสสาวะจากฮันนีมูน) อาจป้องกันได้โดยดื่มน้ำ 1 แก้ว ก่อนร่วมเพศ ควรใส่ครีมหล่อลื่นช่องคลอด และถ่ายปัสสาวะทันทีหลังร่วมเพศ

การรักษา กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

                ขณะที่มีอาการ ให้ดื่มน้ำมาก ๆ ถ้าปวดมากให้ยาแก้ปวด และให้ยาปฏิชีวนะ เช่น โคโตรม็อกซาซล 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง อะม็อกซีซิลลิน  500 มก.ทุก 8 ชั่วโมง โอฟล็อกซาซิน 200 มก.วันละ 2 ครั้ง หรือ ไซโพรฟล็อกซาซิน 250 มก.วันละ 2 ครั้ง นาน 3 วัน 

                      ถ้าไม่ดีขึ้นหรือเป็นซ้ำมากกว่า 2-3 ครั้ง หรือ พบโรคนี้ในผู้ชาย ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุ โดยการตรวจปัสสาวะ (พบเม็ดเลือดขาวจำนวนมาก) นำปัสสาวะไปเพาะหาเชื้อ เอกซเรย์ และถ้าจำเป็นอาจต้องใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (cystoscopy) แล้วให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ

[Total: 1 Average: 4]