ดียูบี

ดียูบี เป็นภาวะที่มีเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกที่ไม่มีพยาธิสภาพเฉพาะที่ตรวจพบ เช่น เนื้องอก หรือการอักเสบของมดลูกหรือ
การตั้งครรภ์

                พบได้ในผู้หญิงทุกวัย แต่จะพบมากในระยะเข้าสู่วัยสาวขณะที่มีประจำเดือนครั้งแรก และในระยะวัย กลางคน เมื่อใกล้จะหมดประจำเดือนอย่างถาวร

                เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของภาวะมีเลือดออกทาง ช่องคลอดมากหรือนานผิดปกติ

สาเหตุ ดียูบี

                เกิดจากการเสียสมดุลระหว่างฮอร์โมนเพศหญิง ได้แก่ เอสโทรเจน (estrogen) และโพรเจสเทอโรน (progesterone) ซึ่งมักจะเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดทำให้มีเอสทาเจนในร่างกายสูงกว่าปกติ ซึ่งเป็นเหตุให้ เยื่อบุมดลูกหนาตัวขึ้น แล้วทำให้มีเลือดออกจากโพรงมดลูกผิดปกติตามมา มักพบในผู้หญิงที่มีรอบเดือนที่ไม่มีการตกไข่ (anovulatory cycle)

อาการ ดียูบี

                ผู้ป่วยจะมีเลือดคล้ายเลือดประจำเดือนมาก หรือกะปริดกะปรอยนานเป็นสัปดาห์ ๆโดยมากจะไม่มีอาการปวดท้องร่วมด้วย เลือดอาจออกมากจนผู้ป่วยซีด อ่อนเพลีย
                บางรายอาจมีประวัติประจำเดือนขาดนำมาก่อน สัก 2-3 เดือน

การป้องกัน ดียูบี

                ผู้ป่วยที่มีเลือดประจำเดือนออกมากหรือกะปริดกะปรอย อาจมีสาเหตุจากดียูบี ซึ่งมักไม่มีอันตราย ร้ายแรง (นอกจากทำให้เสียเลือด) และสาเหตุจากความผิดปกติของมดลูก เช่น เนื้องอกมดลูก มะเร็งเยื่อบุมดลูก มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น ซึ่งมักพบในผู้หญิงอายุมากกว่า 35 ปี รวมทั้งภาวะแทรกซ้อน จากการตั้งครรภ์ เช่น ครรภ์นอกมดลูก  แท้ง บุตร  เป็นต้น ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุให้แน่ชัด

การรักษา ดียูบี

                หากสงสัย ควรส่งโรงพยาบาล แพทย์จะทำการตรวจภายในช่องคลอด อาจต้องตรวจเลือด(ประเมินภาวะซีด และการแข็งตัวของเลือด)     ตรวจปัสสาวะ (ดูว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่) การตรวจอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอด (tranavaginal ultrasonography) เพื่อดูว่ามีการหนาตัวของเยื่อบุมดลูกหรือไม่ และอาจต้องตรวจ พิเศษอื่น ๆ ถ้าสงสัยมีพยาธิสภาพในโพรงมดลูก เช่น ตรวจชิ้นเนื้อในรายที่สงสัยเป็นมะเร็งเยื่อบุมดลูก  
ในผู้ป่วยอายุมากกว่า 35 ปี

การรักษา  แพทย์จะให้การรักษาตามแนวทางดังนี้   

                1.ในรายที่มีเลือดออกน้อย ไม่ซีดหรือซีดเล็กน้อย และยังทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ แพทย์จะให้ยาบำรุงโลหิต และอาจให้ยาฮอร์โมนในรายที่มีภาวะซีด เพื่อควบคุมให้เลือดออกน้อยลง โดยให้ยาขนาดใดขนาดหนึ่งดังนี้

  • ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรวม (เอสโทรเจนกับโพรเจสเทอโรน)1เม็ด วันละ 4 ครั้ง นาน 4-7 วัน
  • โพรเจสเทอโรน เช่น medroxyprogesterone acetate ขนาด 10 มก.กินวันละครั้ง นาน 10 -13 วัน/เดือน ในวันที่ 1 – 10  (หรือ16-25) ของทุกเดือน เป็นเวลา 1-2 เดือน หรือให้กินนอร์เอทิสเทอโรน (norethis-terone) 5 มก.วันละ 3 ครั้ง นาน 10 วัน ต่อไปให้กิน 5 มก.วันละ 2-3 ครั้ง ในวันที่ 19-26 ของทุกเดือน เป็นเวลา 3 เดือน

                2.ในรายที่มีเลือดออกปานกลาง มีภาวะซีดเล็กน้อย แต่ยังไม่รู้สึกตัวดี ความดันโลหิตและชีพจรเป็นปกติแพทย์จะให้ฮอร์โมนบำบัด
(ดังข้อ 1) และให้ยาบำรุงโลหิต 
                3.ในรายที่มีเลือดออกมาก มีภาวะซีดมาก หรือ มีชีพจรเต้นเร็ว หรือภาวะช็อก แพทย์ระรับตัวผู้ป่วยไว้ รักษาในโรงพยาบาล ให้เลือดในรายที่เสียเลือดมาก และให้ยาฮอร์โมนเพื่อควบคุมภาวะเลือดออกขนาดใดขนานหนึ่งดังนี้

  • ให้ conjugated equitne estrogen (มีชื่อ การค้า เช่น Premarin) 25-50 มก.ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ทุก 6 ชั่วโมง หรือให้กินชนิดเม็ด 2.5 มก.ทุก 6 ชั่วโมง ซึ่งมักจะทำให้เลือดหยุดได้ภายใน 24 ชั่วโมง หลังจาก นั้นให้กินชนิดเม็ด10 มก./วัน เป็นเวลา 21-25 วัน และ ให้เพิ่มยา medroxyprogesterone acetate 10 มก.วันละครั้ง ใน 7-10 วันสุดท้ายก่อนที่จะหยุดยา
  • ให้กินยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรวม วันละ 3 - 4 เม็ด จนเลือดหยุดแล้วให้กินต่ออีก 1 สัปดาห์ หลังจากนั้น medroxyprogesteron   acetate วันละ 10 มก.นาน 10 วัน จึงหยุดยา

         หลังหยุดยา 1 - 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีเลือดออก (withdrawal bleeding) ตามมาหลังจากนั้นควรให้ผู้ป่วยกินยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรวมติดต่อกันอีกอย่างน้อย 3  -6 เดือน เพื่อช่วยให้ประจำเดือน มาเป็นปกติ      

                 4.ถ้าให้ยาฮอร์โมนแล้วเลือดไม่หยุด (ปกติควรจะหยุดภายใน 24 ชั่วโมง หรือภายใน 2-3 วัน) หรือพบในผู้ป่วยอายุมากกว่า 35 ปี แพทย์อาจทำการขูดมดลูก และทำการตรวจชิ้นเนื้อ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เป็นมะเร็ง โพรงมดลูก ในบางรายแพทย์อาจใช้กล้องส่งตรวจโพรงมดลูก (hysteroscopy) เพื่อตรวจพยาธิสภาพในโพรงมดลูก

               การขูดมดลูกจะช่วยให้เลือดหยุดได้ หลังจาก นั้นจำเป็นต้องให้กินยาเม็ดคุมกำเนิดนานอย่างน้อย 3 - 6 เดือน เพื่อป้องกันการ
กลับเป็นซ้ำ

              ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาฮอร์โมนหรือมีความผิดปกติของโพรงมดลูก (เช่น เนื้องอก มดลูก มะเร็งมดลูก) ก็จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัดมดลูก

[Total: 0 Average: 0]