โรคแอสเพอร์เกอร์

โรคแอสเพอร์เกอร์ (Asperger’s Disorder) คือ ความบกพร่องของพัฒนาการรูปแบบหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะตัว อยู่ในกลุ่มเดียวกับโรคออทิสติก (Autistic Disorder) แต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดอยู่บ้างพอสมควร โดยแอสเพอร์เกอร์ มีพัฒนาการด้านภาษาดีกว่าออทิสติก และมีระดับสติปัญญาที่ปกติหรือสูงกว่าปกติ หรือที่เดิมเรียกว่า แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger’s Syndrome)

โดยบกพร่องในทักษะทางสังคม ร่วมกับมีพฤติกรรมหมกมุ่น ทำซ้ำๆ ไม่ค่อยยืดหยุ่น จนเกิดผลเสียต่อการดำรงชีวิต การเรียน การทำงาน และการเข้าสังคม ส่วนด้านการใช้ภาษา สามารถพูดคุยสื่อสารปกติ แต่ไม่เข้าใจลูกเล่น สำนวน มุกตลกต่างๆ มีระดับสติปัญญาปกติ ความจำดีแต่มีปัญหาในการประยุกต์ใช้

สาเหตุ โรคแอสเพอร์เกอร์

สาเหตุที่ทำให้เกิดยังไม่แน่ชัด แม้ว่าจะมีงานวิจัยหลายชิ้นแต่ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนเสียทีเดียว แนวโน้มปัจจุบันเชื่อว่ามีความบกพร่องของสารพันธุกรรม ซึ่งความผิดปกติทางพันธุกรรมก็ยังบอกไม่ได้อีกเหมือนกันว่าเกิดจากการถ่ายทอดจากรุ่นต่อรุ่นค่อยๆ สะสมความผิดปกติมาจนแสดงออกในรุ่นหนึ่ง หรือว่าเป็นการกลายพันธุ์ของยีน ซึ่งยังต้องศึกษาวิจัยอีกระยะหนึ่ง เด็กบางคนอาจจะมีปัญหาสมาธิสั้นร่วมด้วย ซึ่งสมาธิสั้นจะพบร่วมได้ในหลายๆ โรค ถ้าเป็นสมาธิสั้นอย่างเดียวไม่มีโรคอื่นเราจะเรียกว่าเป็นโรคสมาธิสั้น แต่ถ้าสมาธิสั้นร่วมกับออทิสติกหรือแอสเพอร์เกอร์ ก็จะเรียกตามโรคหลักของเด็ก เด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์เกือบครึ่งจะมีปัญหาสมาธิสั้น

อาการ โรคแอสเพอร์เกอร์

  1. บกพร่องอย่างชัดเจนในการใช้ท่าทางหลายอย่าง (เช่น การสบตา การแสดงสีหน้า กิริยา หรือท่าทางประกอบการเข้าสังคม) 
  2. ไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนในระดับที่เหมาะสมกับอายุได้
  3. ไม่แสดงความอยากเข้าร่วมสนุก ร่วมทำสิ่งที่สนใจ หรือร่วมงานให้เกิดความสำเร็จกับคนอื่นๆ (เช่น ไม่แสดงออก ไม่เสนอความเห็น หรือไม่ชี้ว่าตนสนใจอะไร) 
  4. ไม่มีอารมณ์หรือสัมพันธภาพตอบสนองกับสังคม
  5. หมกมุ่นกับพฤติกรรมซ้ำๆ (stereotyped) ตั้งแต่ 1 อย่างขึ้นไป และความสนใจในสิ่งต่างๆมีจำกัด ซึ่งเป็นภาวะที่ผิดปกติทั้งในแง่ของความรุนแรงหรือสิ่งที่สนใจ 
  6. ติดกับกิจวัตร หรือย้ำทำกับบางสิ่งบางอย่างที่ไม่มีประโยชน์โดยไม่ยืดหยุ่น 
  7. ทำกิริยาซ้ำๆ (mannerism) (เช่น เล่นสะบัดมือ หมุน โยกตัว) 
  8. สนใจหมกมุ่นกับเพียงบางส่วนของวัตถุ
  9. จะเล่นกับเพื่อนไม่เป็น เล่นแรงบ้าง เล่นไม่เหมาะสมบ้าง ไม่เล่นตามกติกา จึงมักจะถูกปฏิเสธจากเพื่อน อาจจะนำไปสู่โรคกลัวโรงเรียน

การรักษา โรคแอสเพอร์เกอร์

โรคแอสเพอร์เกอร์ สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้มากถึงแม้ว่าจะไม่หายขาด ถ้าเด็กได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในเรื่องทักษะการดูแลตัวเองในชีวิตประจำวัน และฝึกฝนในทักษะทางสังคมอย่างต่อเนื่องก็จะพัฒนาไปได้ดี ปัญหาที่ยังคงเหลืออยู่จะถูกมองเป็นเรื่องของบุคลิกภาพมากกว่า แต่ถ้าได้รับคำแนะนำและช่วยเหลือเขาจะดีขึ้นตามความสามารถที่ควรจะเป็นควบคู่ไปกับการส่งเสริมในด้านที่เป็นความสามารถของเด็ก เป็นสำคัญ

cr. happyhomeclinic, rajanukul


[Total: 3 Average: 5]