มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม คือ โรคที่พบเป็นอันอับที่ 2 ของมะเร็งในผู้หญิง เริ่มพบได้ตั้งแต่วัยสาว และพบมากขึ้นตามอายุส่วนมากจะพบในช่วงอายุมากกว่า 40 ปี มะเร็งเต้านมพบว่ามีความสัมพันธ์กับการมีระดับเอสโทรเจนในเลือดสูงเป็นเวลานาน

สาเหตุ มะเร็งเต้านม

ยังไม่ทราบแน่ชัด พบว่าร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยมีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ เช่น มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ (ถ้ามีญาติเป็นมะเร็งเต้านมก่อนวัยหมดประจำเดือนยิ่งมากคนก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น) ภาวะน้ำหนักเกิน การมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี การมีภาวะหมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี การมีบุตรคนแรกหลังอายุ 30 ปี การใช้ฮอร์โมนทดแทนหลังวัยหมดประจำเดือนนานเกิน 4 ปี การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดตั้งแต่อายุยังน้อยและใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน (เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ก่อนวัยหมดประจำเดือน) การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอส์จัด การได้รับรังสีตั้งแต่วัยเด็กหรือวัยสาว

อาการ มะเร็งเต้านม

ระยะแรกมักไม่มีอาการชัดเจน ต่อมาจะมีอาการคลำได้ก้อนที่เต้านม หัวนมบุ๋ม (จากเดิมที่ปกติ) เต้านมใหญ่ขึ้นหรือรูปทรงผิดปกติ มีน้ำเหลืองหรือเลือดออกจากหัวนม หรือผิวหนังตรงเต้านมมีสีแดงและขรุขระคล้ายผิวส้ม ในระยะท้ายอาจคลำได้ก้อนน้ำเหลืองที่รักแร้ เจ็บบริเวณเต้านม

การป้องกัน มะเร็งเต้านม

เนื่องจากการค้นพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะแรกเริ่มมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นผู้หญิงทุกคนตรวจเต้านมด้วยตนเอง พบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมหรือถ่ายภาพรังสีเต้านม ตามเกณฑ์อายุดังนี้

  • อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจเต้านมด้วยตนเอง อย่างน้อยเดือนละครั้ง
  • อายุ 20-40 ปี ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมทุก 3 ปี และอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป ควรตรวจปีละครั้ง
  • อายุ 35-40 ปี ควรตรวจหามะเร็งระยะแรกเริ่ม (ก่อนคลำได้ก้อน) ด้วยการถ่ายภาพรังสีเต้านม (mamnography) เป็นครั้งแรกไว้เป็นพื้นฐาน อายุ 40-49 ปี ควรซ้ำทุก 1-2 ปี และหลังอายุ 50 ปี ตรวจซ้ำทุกปีสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง (เช่น มีประวัติโรคนี้ในครอบครัว) อาจจำเป็นต้องตรวจถี่กว่าปกติ

การรักษา มะเร็งเต้านม

หากสงสัย ควรส่งโรงพยาบาล แพทย์จะวินิจฉัยโดยการตรวจอัลตราซาวนด์ ถ่ายภาพรังสีเต้านม (mammogram) และตรวจชิ้นเนื้อ ถ้าพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมอาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เพื่อดูการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ปอด กระดูกด้วยการตรวจอัลตราซาวนด์ตับ เอกซเรย์ปอด ตรวจสแกนกระดูกและให้การรักษาด้วยการผ่าตัดเต้านม (อาจตัดเต้านมออกบางส่วนหรือตัดออกทั้งหมด) พร้อมกับเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออก

นอกจากนี้จะให้การรักษาเสริมด้วยรังสีบำบัด เคมีบำบัด ฮอร์โมนบำบัด (โดยให้กินยา tamoxifenยานี้มีฤทธิ์ต้านเอสโทรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นการเจริญของมะเร็งเต้านม) และ/หรืออิมมูนบำบัด(โดยการให้อินเตอร์เฟอรอน หรือ monoclonal antibody)

ผลการรักษา ส่วนใหญ่ได้ผลดี ถ้าเป็นระยะแรกมักจะมีชีวิตอยู่ได้นานหรือหายขาด  แต่ถ้ามะเร็งแพร่กระจายไปทั่วร่างกายแล้ว ก็มักจะได้ผลไม่สู้ดี

[Total: 1 Average: 5]