การรักษาโรคนี้มีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาอาการของโรค ลดความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือด ลดปัจจัยที่ก่อให้เกิดไขมันในหลอดเลือดแดง ขยายหลอดเลือดแดงที่ได้รับผลกระทบจากไขมัน และป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นจาก Atherosclerosis ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้
การใช้ยา
- ยาลดไขมัน เช่น ยาในกลุ่มสแตติน ซึ่งจะช่วยลดการก่อตัวของไขมันชนิดที่ไม่ดีในหลอดเลือดแดง และช่วยกระตุ้นให้คอเลสเตอรอลชนิดที่ดีให้ทำงานได้ดีขึ้น
- ยาต้านเกล็ดเลือด เช่น ยาแอสไพริน เพื่อลดการก่อตัวของเกล็ดเลือดในหลอดเลือดแดงที่อาจเป็นสาเหตุของหลอดเลือดอุดตันในอนาคต
- ยาสลายลิ่มเลือด ในกรณีที่ลิ่มเลือดเป็นสาเหตุทำให้เกิดการตีบตันของหลอดเลือดแดง
- ยาเบต้าบล็อกเกอร์ เช่น ยาอะซีบูโทลอล ยาอะทีโนลอล หรือยาโพรพราโนลอล ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ เพื่อลดอัตราการเต้นของหัวใจ ลดความดันโลหิต บรรเทาอาการเจ็บหน้าอก ลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจขาดเลือดและหัวใจเต้นผิดจังหวะบางประเภท
- ยาเอซีอีอินฮิบิเตอร์ เช่น ยาเบนาซีพริล ยาแคปโตพริล หรือยาอีนาลาพริล ซึ่งจะช่วยลดความดันโลหิต เป็นประโยชน์ต่อหลอดเลือดหัวใจ และลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจขาดเลือด
- ยาแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ เช่น ยาแอมโลดิปีน ยาดิลไทอะเซม หรือยาฟีโลดิปีน เพื่อป้องกันแคลเซียมเข้าสู่เซลล์หัวใจและผนังหลอดเลือด ช่วยให้ความดันโลหิตลดลง และอาจใช้บรรเทาอาการเจ็บหน้าอกได้ด้วยเช่นกัน
- ยาขับปัสสาวะ เช่น ยาคลอโรไทอะไซด์ ยาบูมีทาไนด์ หรือยาอะมิโลไรด์ เพื่อกำจัดโซเดียมและของเหลวส่วนเกินออกจากร่างกาย ซึ่งส่งผลให้ความดันของผนังหลอดเลือดลดลง
การผ่าตัด มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือเกิดการอุดตันของหลอดเลือดที่อาจเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อ ซึ่งการผ่าตัดสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
- การผ่าตัดขยายหลอดเลือด โดยใช้ท่อ บอลลูน หรือลวดตาข่าย เพื่อขยายหลอดเลือดที่เกิดการตีบตัน ทำให้เลือดไหลเวียนได้ตามปกติ และบรรเทาอาการเจ็บหน้าอกจากภาวะหัวใจขาดเลือด
- การทำบายพาส เป็นการผ่าตัดเพื่อทำทางเบี่ยงหลอดเลือดที่แข็งหรือเกิดการอุดตัน เพื่อให้เลือดไหลเวียนเข้าสู่หัวใจได้ตามปกติ บรรเทาอาการเจ็บหน้าอก และป้องกันภาวะหัวใจขาดเลือด
- การผ่าตัดเปิดหลอดเลือด เพื่อกำจัดตะกรันไขมันที่เกาะตามผนังหลอดเลือดที่คอ ทำให้เลือดไหลเวียนไปที่สมองได้ตามปกติ และช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองด้วย
การดูแลตนเอง แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตนเองมากขึ้นด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น เลิกสูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือก่อให้เกิดโรคอ้วนได้ เป็นต้น
[Total: 0 Average: 0]