การรักษา ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

หากสงสัย  ควรส่งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ  มักจะทำการวินิจฉัยด้วยการตรวจความผิดปกติระหว่างการนอนหลับด้วยวิธีที่เรียกว่า  “polysomnography (PSG)” โดยต้องไปนอนค้างที่โรงพยาบาล แล้วใช้อุปกรณ์ตรวจวัดลักษณะการหายใจ และการเปลี่ยนแปลงของหัวใจปอด  สมอง การเคลื่อนไหวของแขนขา ระดับออกซิเจนในเลือด

การรักษา โดยทั่วไปจะเริ่มต้นด้วยการให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่


  • การลดน้ำหนักตัว ควรลดให้ได้มากกว่าร้อยละ10 อาจมีผลทำให้หายขาดในผู้ป่วยบางรายได้
  • หลีกเลี่ยงการบริโภคแอลกอฮอล์และยานอนหลับก่อนเข้านอน  เพราะจะทำให้ทางเดินหายใจอุดกั้นได้ง่าย และหยุดหายใจนานขึ้น
  • พยายามนอนในท่าตะแคง หรือท่าที่ทำให้อาการลดลง (สมัยก่อนมีการใช้ถุงใส่ลูกเทนนิส 3-4 ลูกติดไว้ด้านหลังของเสื้อนอน เพื่อบังคับให้ผู้ป่วยนอนตะแคง)
  •  งดสูบบุหรี่

ถ้าไม่ได้ผล หรือมีอาการรุนแรง อาจให้การรักษาเพิ่มเติม ซึ่งมีให้เลือกอยู่หลายวิธี  ดังนี้

  1. การใช้อุปกรณ์ทางทันตกรรม ช่วยเพิ่มขนาดของทางเดินหายใจในช่วงนอนหลับ วิธีนี้ใช้ได้ผลในรายที่เป็นไม่รุนแรง
  2. การใช้เครื่องอัดอากาศเพื่อช่วยหายใจขณะนอนหลับ(continuous positive airway pressure/CPAP) มีลักษณะเป็นหน้ากากใช้สวมจมูกเวลานอน  สามารถใช้รักษาผู้ป่วยที่เป็นรุนแรง  และได้ผลในการแก้ภาวะนี้ได้มากกว่าร้อยละ 90
  3. การผ่าตัดขยายทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น ซึ่งมีอยู่หลายวิธี แพทย์จะเลือกใช้ให้เหมาะกับสภาพปัญหาของผู้ป่วยแต่ละราย ส่วนเด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับเนื่องจากทอนซิลโตหรือต่อมอะดีนอยด์ (adenoid) โต ก็อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์
[Total: 0 Average: 0]