การผ่าตัดปลูกถ่าย/เปลี่ยนหัวใจ: ครั้งแรกของโลก

health me now blog best website covid 19 time โรงพยาบาลที่ดีที่สุด

เมื่อ 50 ปีก่อน วันที่ 3 ธันวาคม 1967 หัวใจของเดนีส ดาร์วัลล์ ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนวัย 26 ปี ได้ถูกปลูกถ่ายให้แก่หลุยส์ วอชคันสกี พ่อค้าขายของชำวัย 54 ปี

ข่าวการผ่าตัดปลูกถ่าย/เปลี่ยนหัวใจจากมนุษย์สู่มนุษย์ครั้งแรกของโลก นำโดยศัลยแพทย์ชาวแอฟริกาใต้ คริสเตียน เบอร์นาร์ด กลายเป็นพาดหัวข่าวไปทั่วโลก ผู้สื่อข่าวและช่างภาพต่างเดินทางมาที่โรงพยาบาลฮรูทเตอสเกียร์ (Groote Schuur Hospital) ทำให้บาร์นาร์ดและวอชคันสกีโด่งดังไปทั่วโลกภายในเวลาอันรวดเร็ว

รายงานข่าวในช่วงแรกต่างพากันยกย่องการผ่าตัดว่าเป็นการผ่าตัด “ครั้งประวัติศาสตร์” และ “ประสบความสำเร็จ” แม้ว่าวอชคันสกีจะมีชีวิตอยู่ต่อได้เพียง 18 วัน

สื่อให้ความสนใจการปลูกถ่ายหัวใจครั้งแรกมากอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และทำให้เกิดยุคที่แพทย์และคนไข้กลายเป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียง มีการแถลงข่าวหลังการผ่าตัด และการประชาสัมพันธ์ด้านการแพทย์

การผ่าตัดครั้งนั้นกลายเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 20 เทียบเท่ากับการที่มนุษย์เดินทางไปเหยียบดวงจันทร์ในอีก 2 ปีต่อมา

นักข่าวคนหนึ่งบอกว่า การผ่าตัดครั้งนั้น “มีทุกอย่างตามที่นักข่าวปรารถนา”

มันเป็นเทคโนโลยีที่สุดพิเศษ และเกี่ยวข้องกับอวัยวะที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ และยังเป็นเรื่องราวที่น่าซาบซึ้งจากการที่การสูญเสียชีวิตหนึ่งได้ช่วยรักษาอีกชีวิตหนึ่งไว้

ท่ามกลางการถูกจับจ้อง

มีการรายงานกิจกรรมการเคลื่อนไหว อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในแต่ละวันของวอชคันสกีจากหอผู้ป่วยในโรงพยาบาลอย่างละเอียด เขานั่ง พูด ยิ้ม และต้มไข่กินเป็นอาหารเช้า ต่างถูกรายงานเป็นข่าวหน้าหนึ่ง

ภรรยาของเขาและพ่อของผู้บริจาคหัวใจก็ได้รับการสนใจมากเช่นกัน พวกเขาถูกถ่ายรูปร่วมกันขณะที่นางวอชคันสกีร้องไห้ด้วยความรู้สึกซาบซึ้งที่นายดาร์วัลล์ยอมบริจาค “ของขวัญแห่งชีวิต” อันมีค่าชิ้นนี้ให้

หลังจากที่วอชคันสกีเป็นปอดบวมและเสียชีวิต ผู้คนต่างพากันเศร้าโศรกตามไปด้วย นายดาร์วัลล์ก็เศร้ากับการสูญเสียลูกสาวของเขาเป็นครั้งสอง เพราะการตายของวอชคันสกี ทำให้อวัยวะของลูกสาวของเขา “ไม่เหลืออยู่” อีกต่อไปแล้วเช่นกั้น

ส่วนบาร์นาร์ด ยังคงได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน

เขาขึ้นปกนิตยสารหลายเล่ม ได้พบปะกับผู้มีตำแหน่งสูงต่าง ๆ และดาราภาพยนตร์ ไม่ว่าเขาจะไปที่ไหนก็มีช่างภาพและฝูงชนคอยให้ความสนใจ

แต่แล้วก็เริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับการปลูกถ่ายหัวใจ และเกิดความเห็นไม่ลงรอยกันในหมู่แพทย์ ศัลยแพทย์จำนวนมากพร้อมที่จะผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ และการผ่าตัดของบาร์นาร์ดก็ทำให้เกิดการตื่นตัวไปทั่วโลก

ในปี 1968 มีการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจเกิดขึ้นกว่า 100 ครั้ง โดยคณะแพทย์ 47 คณะ แต่ละครั้งต่างก็มีการเผยแพร่ข่าวกว้างขวาง จากเดิมที่แพทย์มักจะไม่ค่อยพูดให้ข้อมูลมากนัก

ผู้รับการปลูกถ่ายหัวใจในช่วงแรกส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ได้เพียงสั้น ๆ บางรายเพียงไม่กี่ชั่วโมง ทำให้ผู้คนต่างรู้สึกกังวล และเกิดการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับอัตราการเสียชีวิตที่สูงอย่างเห็นได้ชัด

บางคนตั้งคำถามว่า การจัดการด้านภูมิต้านทานก้าวทันกับความสามารถในการผ่าตัดหรือไม่ และการผ่าตัดที่ไฮเทคเหล่านี้คุ้มค่ากับทรัพยากรที่เสียไปหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีประเด็นด้านกฎหมายและจริยธรรมที่ซับซ้อนเกิดขึ้น เกี่ยวกับการย้ายหัวใจที่กำลังเต้นอยู่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นความตาย นั่นหมายความว่าการทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการฆ่าคนไข้ที่เป็นผู้บริจาคหัวใจหรือไม่

ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางจริยธรรม

แรงจูงใจในการช่วยชีวิตผู้ป่วยที่ถูกระบุว่าเป็นผู้บริจาคที่มีศักยภาพก็ถูกตั้งคำถามเช่นกัน โดยเฉพาะในการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจครั้งที่สองของบาร์นาร์ดในเดือนมกราคม 1968 ซึ่งได้ใช้หัวใจของชาย ‘ผิวสี’ ในการปลูกถ่ายให้แก่ชายผิวขาวในประเทศแอฟริกาที่มีการแบ่งแยกสีผิวในสมัยนั้น

การผ่าตัดนี้จึงทำให้เกิดความหวังขึ้นในคนกลุ่มหนึ่งและทำให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นในคนอีกกลุ่มหนึ่งเช่นกัน

เดือนกุมภาพันธ์ 1968 ตอนพิเศษของรายการทูมอร์โรว์สเวิลด์ของบีบีซี ซึ่งเป็นตอนที่บาร์นาร์ดได้พูดคุยกับผู้ไม่เห็นด้วย ทำให้เกิดการอภิปรายที่สำคัญเกี่ยวกับปัญหาทางจริยธรรมและสังคม

แพทย์ที่สำคัญหลายสิบคนได้เข้ามาอยู่เคียงข้างบาร์นาร์ดในสตูดิโอด้วย ถือเป็นการละเมิดแนวทางปฏิบัติทางวิชาชีพเกี่ยวกับการไม่เปิดเผยชื่อของแพทย์และความลับของคนไข้

ส่วนการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจครั้งแรกในอังกฤษเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 1968 ก็ถูกสื่อจับจ้องและตรวจสอบอย่างเข้มงวด การเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับการผ่าตัดที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันในสมัยนั้นมีส่วนทำให้ต้องยุติการผ่าตัดนี้ตลอดช่วงทศวรรษ 1970

โครงการปลูกถ่ายหัวใจกลับมาเริ่มใหม่พร้อมกับความก้าวหน้าที่สำคัญในด้านการรักษาด้านภูมิคุ้มกัน

ปัจจุบันแพทย์สามารถทำการผ่าตัดที่ช่วยต่อชีวิตและเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้ป่วยเช่นนี้ได้โดยทั่วไป แต่การเปลี่ยนผ่านจากการผ่าตัดยุคบุกเบิกของบาร์นาร์ด มาสู่การผ่าตัดที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติในปัจจุบันก็ไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่น

หนังสือเรื่อง “Heart Exposed: Transplants and the Media in1960s Britain” โดย ดร.อะเยชา นาทู ได้รับการตีพิมพ์โดยพัลเกรฟแม็คมิลลัน

[Total: 2 Average: 4.5]

Leave a Reply

Discover more from HEALTH ME NOW

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading