ตรวจปัสสาวะ

ตรวจปัสสาวะ (Urinalysis) เป็นการตรวจดูลักษณะทางกายภาพ สารเคมี หรือตรวจทางกล้องจุลทรรศน์ เพื่อค้นหาความผิดปกติและประเมินความเสี่ยงในบางโรคเบื้องต้นจากน้ำปัสสาวะ

ปัสสาวะเป็นสารน้ำที่เกิดจากการกรองของเสียในเลือดผ่านทางไตและขับออกมานอกร่างกาย โดยปริมาตรของปัสสาวะโดยเฉลี่ยในผู้ใหญ่คือ 600-1,600 มิลลิลิตรต่อวัน ในปัสสาวะประกอบด้วยสารต่างๆ มากมายเช่น น้ำ แร่ธาตุ สารเคมี โปรตีน น้ำตาล ครีเอตินิน เป็นต้น ซึ่งปริมาตรของปัสสาวะที่ขับออกในแต่ละวันจะมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับช่วงอายุ อาหารการกิน อุณหภูมิในร่างกาย ปริมาณน้ำที่ดื่ม การทำงานของหัวใจและไต

ปัจจุบันการเก็บปัสสาวะเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการมีหลายรูปแบบเช่น

  1. การเก็บปัสสาวะในช่วงเวลาใดก็ได้เพียงครั้งเดียว (random หรือ spot urine collection) เป็นการเก็บปัสสาวะที่นิยมตรวจมากที่สุด ซึ่งในการตรวจสุขภาพประจำปีจะใช้วิธีการเก็บปัสสาวะแบบนี้ ผู้ที่เข้ารับการตรวจจะต้องเก็บปัสสาวะในช่วงกลาง (midstream urine) เพื่อลดการปนเปื้อนของเซลล์หรือสารคัดหลั่งต่างๆ ที่อยู่ในทางเดินปัสสาวะ
  2. การเก็บปัสสาวะครั้งแรกในตอนเช้า (first morning urine) จะเป็นปัสสาวะที่มีความเข้มข้นของสารต่างๆ มากที่สุด เหมาะใช้ในการตรวจการตั้งครรภ์ การตรวจเบาหวานและการเพาะเชื้อแบคทีเรีย
  3. การเก็บปัสสาวะสำหรับการเพาะเชื้อ จะต้องเก็บปัสสาวะในช่วงกลางหรือ midstream urine โดยต้องมีวิธีเก็บที่สะอาดและถูกต้องตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์
  4. การเก็บปัสสาวะโดยการสวนปัสสาวะ (catheterized urine) จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถถ่ายปัสสาวะได้เอง
  5. การเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมง (24-hour urine) มักใช้ในการตรวจเกี่ยวกับความผิดปกติของกระบวนการทำงานของร่างกาย

วิธีการเก็บปัสสาวะที่ถูกต้อง ผู้เก็บจะต้องล้างมือให้สะอาด รวมถึงทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศให้สะอาดก่อนการเก็บปัสสาวะ จากนั้นปัสสาวะส่วนแรกทิ้งไปก่อนแล้วจึงเก็บปัสสาวะในช่วงกลางในภาชนะที่สะอาดอย่างน้อย 15-20 มิลลิลิตร และนำส่งห้องปฏิบัติการต่อไป

ผลที่ได้จากการตรวจปัสสาวะ

        ข้อมูลเบื้องต้นจากปัสสาวะ

ได้แก่ ลักษณะของสีและความขุ่นใสของปัสสาวะ โดยปกติแล้วปัสสาวะจะมีลักษณะสีเหลืองใส  หากมีลักษณะผิดแปลกไป อาจจะบ่งบอกถึงความผิดปกติของร่างกายได้ เช่น ปัสสาวะขุ่นบ่งบอกถึงการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะสีแดงบ่งบอกถึงการมีเลือดปน ซึ่งแพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายเพื่อสืบค้นสาเหตุของความผิดปกติต่อไป

        ความเป็นกรด-ด่างของปัสสาวะ (pH)

สามารถแสดงความสมดุล ความเป็นกรด-ด่างของเลือดได้ ค่าปกติจะอยู่ที่ 4.5-8 อย่างไรก็ตามสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามอาหารที่รับประทานเข้าไปได้ด้วย เช่น ปัสสาวะสามารถเป็นกรดมากขึ้น จากการรับประทานเนื้อสัตว์ในปริมาณมากหรือผลไม้บางชนิด

        ความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ (SG)

ค่าปกติควรอยู่ที่ 1.003-1.030 ค่านี้จะช่วยบ่งบอกความเข้มข้นหรือเจือจางของปัสสาวะได้ หากค่าผิดปกติไป ร่วมกับมีประวัติหรืออาการที่ผิดปกติ จะช่วยบ่งบอกถึงภาวะหรือโรคบางอย่างได้

        โปรตีนไข่ขาวในปัสสาวะ (Protein)

โดยปกติแล้วไม่ควรพบโปรตีนในปัสสาวะ แต่อาจจะมีปนมาในปัสสาวะได้บ้างในกรณี เช่น มีการออกกำลังกายอย่างหนักมาก่อน, มีภาวะขาดน้ำ, มีไข้, ใกล้มีรอบเดือน, รับประทานเนื้อสัตว์เยอะ แต่หากมีการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะปริมาณมากควรได้รับการตรวจยืนยันอีกครั้ง เพราะอาจจะเป็นสัญญาณของภาวะไตเสื่อมเรื้อรังหรือโรคไตบางชนิดได้

        น้ำตาลในปัสสาวะ (Sugar)


ปกติแล้วไม่ควรพบน้ำตาลในปัสสาวะ หากตรวจพบจะบ่งบอกถึงระดับน้ำตาลในเลือดที่สูง ทำให้สงสัยโรคเบาหวานได้ หรือมีการทำงานของไตที่ผิดปกติได้

        ตะกอนของปัสสาวะ (Urine Sediments)


ประกอบไปด้วยการรายงานเม็ดเลือดขาว, เม็ดเลือดแดง, เยื่อบุเซลล์ผิวหนัง รวมถึงผลึกต่างๆ หรือแท่งคาสท์ ซึ่งหากมีสิ่งเหล่านี้สูงผิดปกติ สามารถบ่งบอกถึงการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ, นิ่วหรือโรคไตบางชนิดได้ โดยแพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุต่อไป

ปัสสาวะที่ปนเปื้อน (Contaminated Urine)

        คือ มีการปนเปื้อนเกิดขึ้นขณะเก็บปัสสาวะ ทำให้ในปัสสาวะมีเยื่อบุเซลล์ผิวหนังออกมามาก, พบเม็ดเลือดขาว, แบคทีเรียหรือเชื้อราที่อยู่บริเวณรอบอวัยวะเพศ ซึ่งโดยปกติไม่ก่อโรคปนออกมา มักเกิดจากกระบวนการหรือวิธีการเก็บปัสสาวะไม่เหมาะสมเท่าที่ควร ดังนั้น ผลปัสสาวะที่ได้จึงไม่เหมาะสมที่จะแปลผล หากต้องการผลที่ถูกต้องและชัดเจนควรเก็บปัสสาวะเพื่อทำการตรวจซ้ำโดยวิธีเก็บที่ถูกต้อง

[Total: 0 Average: 0]