การรักษา สมองบวม

เป้าหมายที่สำคัญของการรักษาภาวะสมองบวมคือ การลดหรือหยุดยั้งการบวมที่เกิดขึ้นแล้วและป้องกันไม่ให้เกิดความบวมใหม่ ดังนั้นการรักษาหลักเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวคือการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะสมองบวม เช่น การให้ยาสลายลิ่มเลือดอุดตันในโรคหลอดเลือดสมองตีบ การผ่าตัดเนื้องอกสมอง การรักษาภาวะโพรงน้ำสมองคั่งด้วยการใส่สายระบายโพรงน้ำสมอง (CSF diversion) และการผ่าตัดนำก้อนเลือดออกในโรคหลอดเลือดสมองแตกหรือสมองบาดเจ็บ เป็นต้น นอกจากนี้แพทย์ควรเลือกการรักษาที่ตรงกับชนิดของภาวะสมองบวมที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด

การรักษาผู้ป่วยที่พบภาวะสมองบวมและเริ่มมีอาการทางระบบประสาท ควรเริ่มให้การรักษาโดยทันที ซึ่งใช้หลักการเดียวกับการรักษาภาวะความดันภายในโพรงกะโหลกศีรษะสูง (increased intracranial pressure, IICP)(10) ซึ่งจะกล่าวถึงโดยละเอียดในบทถัดไป ร่วมกับการพิจารณาให้ยาลดภาวะสมองบวม ซึ่งปัจจุบันยารักษาภาวะสมองบวมที่มีหลักฐานสนับสนุนมีเพียง 2 ประเภท ได้แก่ยา glucocorticoid และยากลุ่ม osmotic ส่วนยากลุ่มใหม่ที่ออกฤทธิ์เฉพาะกับตัวรับตามกลไกที่เกี่ยวข้องกับการบวม เช่น VEGF antibody, NKCC1 inhibitor และ vasopressin receptor antagonist ยังอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม

[Total: 1 Average: 5]