อาการ แอสทีเนีย เกรวิส

ในระยะแรกเริ่ม  อาจมีอาการอ่อนแรงแบบเฉพาะที่ (เกิดที่กล้ามเนื้อเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง) หรืออาการอ่อนแรงแบบทั่วไป (เกิดกับกล้ามเนื้อหลาย ๆ ส่วนพร้อมกันทั่วร่างกาย) ก็ได้ ที่พบบ่อย คือ อาการหนังตาตก (ตาปรือ) ซึ่งมักเกิดเพียงข้างเดียว หรืออาการเห็นภาพซ้อนเนื่องจากกล้ามเนื้อกลอกลูกตาอ่อนแรงมักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ โดยจะเป็นมากเวลาขับรถ  ดูโทรทัศน์หรือใช้สายตามาก  และมักเป็นในช่วงเวลาบ่ายหรือเย็น

ผู้ป่วยทีเป็นโรคนี้ในระยะแรกเริ่ม อาจมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อตาเพียงอย่างเดียว หรืออาจร่วมกับอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อส่วนอื่น ๆ แต่ภายใน 1-2 ปี ผู้ป่วยที่มีอาการของกล้ามเนื้อตาเพียงอย่างเดียวส่วนใหญ่จะเป็นรุนแรงขึ้น คือ มีอาการอ่อนแรงแบบทั่วไป

อาการอื่น ๆที่อาจเกิดขึ้นแบบเฉพาะที่ (ส่วนเดียว) หรือเกิดร่วมกันหลายส่วน ได้แก่

  • อาการของกล้ามเนื้อบริเวณคอหอยส่วนปากผู้ป่วยจะมีอาการพูดไม่ชัดหรือพูดอ้อแอ้ กลืนลำบาก สำลักอาหาร  พูดเสียงขึ้นจมูก  
  • อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อส่วนต้นของแขนขา ผู้ป่วยจะมีอาการยกแขนลำบาก หรือลุกขึ้นยืน เดินขึ้นบันได หรือยืนนาน ๆได้ลำบาก
  • อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อลำตัว ผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้อคออ่อนแรง (ก้มหรือเงยศีรษะได้ลำบาก) สายเสียง (vocal cord) เป็นอัมพาต ทำให้พูดเสียงแหบกล้ามเนื้อช่วยหายใจเป็นอัมพาต ทำให้ผู้ป่วยหยุดหายใจ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่สำคัญ  ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วง 3 ปีแรกหลังมีอาการอาการเหล่านี้มักเป็น ๆ หาย ๆ ไม่คงที่ โดยทั่วไปผู้ป่วยมักเป็นปกติในตอนเช้า แต่ตอนสาย ๆ หรือตอนบ่าย ๆ ก็จะมีอาการกำเริบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากมีการเคลื่อนไหวร่างกายหรือออกแรงติดต่อกันระยะหนึ่ง   และดีขึ้นเมื่อได้หยุดพัก แต่ละช่วงของการกำเริบ จะเป็น อยู่หลายวันถึงหลายสัปดาห์แล้วหายได้เอง แต่ก็มักจะกำเริบซ้ำ ๆ ได้อีก

อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ มักจะเป็นมากขึ้นหลังเป็นไข้หวัด หรือเป็นโรคติดเชื้ออื่น ๆ หลังผ่าตัดหรือฉายรังสี ขณะสัมผัสอากาศร้อนหรือเย็นจัดร่างกายเหนื่อยล้า ตื่นเต้นตกใจ อารมณ์เครียด นอนไม่หลับ ขณะมีประจำเดือน ขณะตั้งครรภ์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะไตรมาสแรก) หลังกินอาหารพวกแป้งหรือน้ำตาลมาก หรือดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาบางชนิด เช่น นีโอไม่ซิน สเตรปโตไมซิน เจนตาไมซิน แตตราไซครีน อีรีโทรไมซิน คลอโรควีน ควินิน  แมกนีเซียมซัลเฟต  ยาปิดกั้นบีตา ยากล่อมประสาท ยานอนหลับ ยาสลบ (เช่น ฮาโลเทน อีเทอร์) ยาฉีดโบทูลิน (โบท็อกซ์)

ผู้ป่วยบางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายโดยไม่มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อชัดเจนก็ได้

[Total: 0 Average: 0]