อาการ โรคพิษสุนัขบ้า

ระยะอาการนำของโรค ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำๆ (38-38.5ซ.) ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บคอ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน อาจมีอาการกระสับกระส่าย ลุกลี้ลุกลน  วิตกกังวล มีความรู้สึกกลัว นอนไม่หลับ อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ที่สำคัญซึ่งถือเป็นอาการที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคนี้ คือ บริเวณบาดแผลที่ถูกกัด  อาจมีอาการปวดเสียว คัน ชา หรือปวดแสบปวดร้อย  โดยเริ่มที่บริเวณบาดแผลแล้วลามไปทั่วแขนหรือขา

ระยะปรากฏอาการทางระบบประสาท  มักเกิดภายหลังอาการนำดังกล่าว 2-10 วัน ซึ่งแบ่งเป็น 3 แบบ ได้แก่

                1. แบบคลุ้มคลั่งซึ่งพบได้บ่อยสุด (ประมาณร้อยละ 60-70 ของผู้ป่วย) ในระยะแรกๆ อาจมีเพียงอาการไข้ กระวนกระวาย  สับสน ซึ่งจะเกิดบ่อยเมื่อถูกกระตุ้น ด้วยสิ่งเร้า เช่น แสง เสียง เป็นต้น ต่อมาจะมีการแกร่งของระดับความรู้สึกตัว (เดี๋ยวดี  เดี๋ยวไมดีสลับกัน) ขณะรู้สึกตัวดี
ผู้ป่วยจะพูดคุยตอบโต้ได้เป็นปกติ แต่ขณะความรู้สึกตัวไม่ดี  ผู้ป่วยจะมีอาการกระวนกระวาย ผุดลุกผุดนั่ง  เดินเพ่นพ่าน  เอะอะอาละวาด

ต่อมาจะมีอาการกลัวลม (เพียงแต่เป่าลมเข้าที่หน้าหรือคอจะมีอาการผวา) กลัวน้ำ (เวลาดื่มน้ำจะปวด เกร็งกล้ามเนื้อคอหอยทำให้กลืนไม่ได้  ไม่กล้าดื่มน้ำทั้งๆ ที่กระหาย  หรือแม้แต่จะกล่าวถึงน้ำก็กลัว) ซึ่งพบได้เกือบทุกราย  แต่ไม่จำเป็นต้องพบร่วมกันทั้ง 2 อาการ และอาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อผู้ป่วยเริ่มเข้าสู่ระยะไม่รู้สึกตัว

นอกจากนี้  ยังพบอาการถอนหายใจเป็นพักๆ (มักพบในระยะหลังของโรค) และอาการผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ  เช่น น้ำตาไหล น้ำลายไหล  เหงื่อออกมา ขนลุก ในผู้ชายอาจมีการแข็งตังขององคชาตและหลั่งนำอสุจิบ่อย  ซึ่งเกิดขึ้นเองโดยไม่ตั้งใจ

ในที่สุดผู้ป่วยจะซึม หมดสติ หยุดหายใจ และ เสียชีวิตภายใน 7 วัน (เฉลี่ย 5 วัน) หลังจากเริ่มแสดงอาการ

               2. แบบอัมพาต (นิ่งเงียบ) ซึ่งพบได้บ่อยรองลงมา (ประมาณร้อยละ 30) มักมีอาการไข้ ร่วมกับกล้ามเนื้อแขนขาและทั่วร่างกายอ่อนแรง กลั้นปัสสาวะ ไม่ได้  พบอาการกลัวลมและกลัวน้ำประมาณร้อยละ 50 ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเสียชีวิตช้ากว่าแบบที่ 1 คือเฉลี่ย 13 วัน

บางครั้งอาจแยกจากกลุ่มอาการกิลเลนบาร์เรได้ยาก

                3. แบบแสดงอาการไม่ตรงต้นแบบ (nonclassic) ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วย ที่ถูกค้างคาวกัด ในระยะแรกผู้ป่วยอาจมีอาการปวด ประสาทหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง  ต่อมาจะมีอาการแขนขาซึกหนึ่งเป็นอัมพาตหรือชา มีอาการชักและการเคลื่อนไหวผิดปกติ  มักไม่พบอาการกลัวลม  กลัวน้ำและอาการผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติดังแบบที่ 1

ระยะไม่รู้สึกตัว ผู้ป่วยทุกรายเมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายจะมีอาการหมดสติและเสียชีวิต (จากระบบหายใจ) และระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว  รวมทั้งหัวใจเต้นผิดจังหวะ) ภายใน 1-3 วันหลังมีอาการไม่รู้สึกตัว ถ้าผู้ป่วยมาโรงพยาบาลในระยะนี้อาจทำให้วินิจฉัยโรคได้ยาก อาจเข้าใจผิดว่าเกิดจากโรคสมองอักเสบจากสาเหตุอื่น

[Total: 0 Average: 0]