การรักษา ไข้หวัดนก

                   ถ้าาพบผู้ป่วยเป็นไข้(≥ 38ซ)ไข้หวัดหรือไข้ร่วม กับหายใจหอบ และมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ป่วย  หรือตายภายใน 7 วันก่อนป่วย  หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของไข้หวัดนกภายใน 14 วันก่อนป่วย หรือพบผู้ป่วยสงสัยเป็นไข้หวัดนก ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล โดยเร็ว

                   แพทย์จะทำการวินิจฉัย โดยการนำสิ่งคัดหลั่ง บริเวณคอหอยโพรงหลังจมูกหรือหลอดลมไปตรวจหา  เชื้อไวรัสเอช 5 เอ็น 1 ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น immunofluorescent assay (IFA) , reverse transcriptase polymerase chain reaction (RT-PCR), real time  PCR การแยกเชื้อในเซลล์เพาะเลี้ยง เป็นต้น  และทำการตรวจพิเศษ เช่น เอกซเรย์ปอด (พบร่องรอยการอักเสบของปอด) ตรวจเลือด (พบเกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ต่ำเอนไซม์ตับได้แก่ AST และ ALT สูง ครีอะตินีนสูง)

                ถ้าตรวจพบหรือสงสัยเป็นไข้หวัดนก  มักจะต้องรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล

การรักษา  แพทย์จะให้ยาต้านไวรัส ได้แก่ โอเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) ซึ่งมีชื่อการค้า เช่น ทามิฟลู (tamiflu) ผู้ใหญ่ให้ขนาด  75 มก.วันละ 2 ครั้ง (เด็ก น้ำหนัก 15 กก.หรือน้อยกว่า 30 มก.น้ำหนัก 16-23 กก.ให้ครั้งละ 45 มก. น้ำหนัก 24 – 40 กก.ครั้งละ 60 มก.  น้ำหนักมากกว่า 40กก.ให้ครั้งละ 75 มก.วันละ 2 ครั้ง นาน 5 วัน ยานี้จะใช้ได้ผลดีควรให้ ภายใน 48 ชั่วโมงหลังมีอาการ

                ในรายที่มีอาการรุนแรง  แพทย์อาจพิจารณาเพิ่ม ขนาดยาเป็น 2 เท่า (เช่น ผู้ใหญ่ครั้งละ 150 มก.) นาน 7 – 10 วัน

                นอกจากนี้ จะให้การรักษาตามอาการหรือภาวะ ที่พบร่วม เช่น ถ้าหายใจหอบ ก็ใช้เครื่องช่วยหายใจ และให้ออกซิเจน

                ถ้าสงสัยมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนก็ให้ ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่สงสัย

                ในรายที่มีภาวการณ์หายใจล้มเหลว อาจพิจารณาให้สตีรอยด์ (ซึ่งยังสรุปไม่ได้แน่ชัดถึงประโยชน์ของการใช้ยานี้)

                ผลการรักษาขึ้นกับความรุนแรงของโรค ในรายที่มีการติดเชื้อรุนแรงถึงขั้นเกิดภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน มักจะมีอัตราตายสูง  มักตายภายใน 6-30 วัน หลังมีอาการ (เฉลี่ย 9-10 วัน)

                ในรายที่มีอาการไม่รุนแรงและไม่มีภาวะแทรกซ้อน ก็มักจะรักษาให้หายขาดได้

[Total: 0 Average: 0]