ชิคุนกุนยา: ระวัง! ปี 63 ป่วยกว่า 5.7 พันรายใน 65 จังหวัด

ข่าวสุขภาพ อัพเดต สาธาณสุข

กรมควบคุมโรคเผยสถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือชิคุนกุนยา ปี 2563 พบผู้ป่วยแล้ว 5,728 ราย จาก 65 จังหวัด ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่พบมากอายุ 25-34 ปี ภาคกลางมากที่สุด รองลงมาเหนือ อีสาน ใต้

เมื่อวันที่ 8 ส.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา ในปี 2563 พบผู้ป่วยแล้ว 5,728 ราย จาก 65 จังหวัด ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ 25-34 ปี (ร้อยละ 17.51) 35-44 ปี (ร้อยละ 17.20) และ 45-54 ปี (ร้อยละ15.50) ตามลำดับ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างร้อยละ 23.7 นักเรียนร้อยละ 21.3 เกษตรร้อยละ 15.7 ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคกลาง รองลงมาคือภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ โดยจากระบบเฝ้าระวังโรค (รง. 506) พบจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ จันทบุรี รองลงมาคืออุทัยธานี ลำพูน เลย และตราด ตามลำดับ

“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าช่วงนี้จะมีจำนวนผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายเพิ่มขึ้น เนื่องจากพบผู้ป่วยกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ประกอบกับช่วงนี้เป็นฤดูฝน จึงทำให้มีฝนตกชุกต่อเนื่องและครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทย ทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา เป็นโรคติดต่อนำโดยแมลง มียุงลายเป็นพาหะ สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในฤดูฝน ผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการไข้สูง ปวดข้อ ข้อบวมหรือข้ออักเสบร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีผื่นหรืออ่อนเพลีย” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับการรักษานั้น ไม่มีการรักษาเฉพาะ ใช้การรักษาตามอาการ และป้องกันภาวะแทรกซ้อน ร่วมกับป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา คำแนะนำสำหรับประชาชนในการป้องกันโรคที่ดีที่สุด คือ การจัดการสิ่งแวดล้อมภายในบ้านและนอกบ้าน และการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ด้วยมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ เก็บบ้าน เก็บขยะ และเก็บน้ำ เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา รวมถึงการป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัดด้วยการทายากันยุง กำจัดยุงในบ้าน และนอนกางมุ้ง

กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่า ยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรคที่สามารถพบได้ทุกจังหวัด สถานพยาบาลทุกแห่งควรมีการเฝ้าระวังโรคไข้ปวดข้อยุงลายในโรงพยาบาล โดยการคัดกรองผู้ป่วยที่มาด้วยอาการ ไข้ ปวดข้อ มีผื่น หรือมีอาการคล้ายไข้เลือดออกแต่เกล็ดเลือดอยู่ในระดับปกติ และเมื่อพบผู้ป่วยควรรายงานผู้สงสัยหรือผู้ป่วยต่อหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เพื่อการลงควบคุมโรคอย่างรวดเร็ว หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

[Total: 0 Average: 0]

Leave a Reply

Discover more from HEALTH ME NOW

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading