เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ที่ผ่านมา ซิกน่า บริษัทประกันชีวิตชื่อดังระดับโลก จากสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงานการศึกษาเรื่อง “CHRONIC STRESS: ARE WE REACHING HEALTH SYSTEM BURN OUT? หรือ “ความเครียดแบบเรื้อรัง: เรากำลังเข้าสู่ระบบสุขภาพที่มอดไหม้หรือไม่?” โดยศึกษาปรากฏการณ์ “ความเครียด” และผลที่เกิดจากความเครียดในระบบสุขภาพ ในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย ฮ่องกง สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเกาหลีใต้
ทั้งนี้ พบว่าโรคที่เกิดจากความเครียด กำลังเป็นปัญหาสำคัญของระบบสุขภาพในทุกประเทศ และค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเหล่านี้ ล้วนอยู่ใน “ขาขึ้น” สำหรับความเครียดเรื้อรังไม่เพียงเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจิตเช่น “ความวิตกกังวล” “โรคแพนิค” และ “ภาวะซึมเศร้า” เท่านั้น แต่สามารถแสดงออกในอาการทางกายภาพ โดยส่งผลบ่อยที่สุดใน 4 อาการ ได้แก่
1.อาการเจ็บหน้าอก
2.ปัญหาการไหลเวียนโลหิต
3.ปัญหาระบบทางเดินอาหาร
4.ปัญหาระบบกล้ามเนื้อและกระดูก (Musculoskeletal Pain)
และ 5.ปัญหาทางสุขภาพของผู้หญิง
รายงานของซิกน่า ได้สำรวจ 500 บทความวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคที่เกิดจากความเครียด รวมถึงตรวจสอบมุมมองจาก “ผู้ป่วย” ใน 3 พื้นที่ ได้แก่
1.ผู้ป่วยที่กำลังมองหาการดูแล สำหรับความเจ็บป่วยทางจิตที่เกี่ยวข้องกับความเครียด
2.ผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานจากความเครียด ด้วยอาการที่ “ไม่สามารถอธิบายทางการแพทย์ได้”
และ 3.สัดส่วนของผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานจากความเครียด ด้วยอาการทางร่างกายเช่น อาการลำไส้แปรปรวน (IBS) หรือปวดหลังส่วนล่าง และมีปัญหาในโรคทางจิตเวชด้วย
โดยศึกษาว่าคนกลุ่มนี้ มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเหล่านี้เท่าไหร่ และระบบสุขภาพในประเทศนั้นๆ เอื้อต่อการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับความเครียดหรือไม่
ผลการศึกษาของ Cigna ใน 9 ประเทศ พบว่า 25% ของผู้ป่วยที่แอดมิทในโรงพยาบาล 19% ของผู้ป่วยที่ผ่าน “ห้องฉุกเฉิน” 35% ที่เข้ารับการรักษาผ่านระบบสุขภาพปฐมภูมิ และ 12% ของผู้ป่วยนอก เป็นผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคจากความเครียด