โรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงิน คือ โรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย ๆ โดยพบได้ประมาณร้อยละ 1-2 ของคนทั่วไป มีลักษณะเป็นผื่นนูนแดงและมีสะเก็ดสีเงินอยู่ด้านบน มักพบบริเวณข้อศอก หัวเข่า หลัง และหนังศีรษะ แต่อาจพบผื่นที่ผิวหนังส่วนอื่นของร่างกายก็ได้รวมทั้งที่เล็บ โดยการกระตุ้นของสารเคมีจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า ลิมโฟไซต์ (Lymphocytes) ชนิดเซลล์ที (T-cell) ทำให้เกิดการอักเสบจนเกิดเป็นผื่นหนาขนาดใหญ่ มีลักษณะสีเงินและแดงที่ผิวหนังได้ทั่วร่างกาย ถ้าผื่นสะเก็ดเงินเกิดขึ้นในบริเวณข้อพับต่าง ๆ เช่น รักแร้ ขาหนีบ ใต้เต้านมของผู้หญิง ผื่นจะมีสะเก็ดน้อยหรือไม่มีเลยและพื้นผิวค่อนข้างมัน ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยจะเป็นผื่นแบบเรื้อรังเฉพาะที่

หากจำแนกตามประเภทของโรคพบว่ามีอยู่หลายชนิด แต่ที่พบได้บ่อยมีดังนี้

  • โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนาหรือปื้นหนา (Plaque Psoriasis/Psoriasis Vulgaris) เป็นชนิดที่พบมากที่สุดประมาณ 80% บริเวณผิวหนังจะมีลักษณะเป็นผื่นแดงหนาคลุมด้วยสีเงิน ส่วนใหญ่มักเกิดกับผิวบริเวณข้อศอก หัวเข่า และหนังศีรษะ
  • โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นขนาดเล็ก (Guttate Psoriasis) เป็นชนิดที่มักเกิดกับเด็กและวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ โดยพบได้ประมาณ 10% ของโรคสะเก็ดเงินที่เกิดกับผู้ป่วย ลักษณะผิวหนังจะเป็นจุดสีชมพูขนาดเล็ก และอาจกลายเป็นผื่นหนาสีแดงได้เหมือนกับชนิดผื่นหนา สามารถเกิดได้บ่อยที่แขน ขา หรือตามลำตัว
  • โรคสะเก็ดเงินชนิดที่มีตุ่มหนอง (Pustular Psoriasis) เป็นชนิดที่เกิดได้มากในวัยผู้ใหญ่ บริเวณผิวหนังมีตุ่มหนองสีขาวกระจายเป็นวงกว้างและเกิดการอักเสบจนแดง มักพบมากตามแขนขา อาจเกิดการแพร่กระจายไปทั่วลำตัวได้ บางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ขึ้น รู้สึกคันตามผิวหนัง เบื่ออาหาร  
  • โรคสะเก็ดเงินชนิดเกิดตามข้อพับ (Inverse Psoriasis/Intertriginous Psoriasis) ผิวหนังเป็นผื่นแดง มีความเรียบและเงา มักเกิดขึ้นตามข้อพับและซอกต่าง ๆ ตามร่างกาย เช่น หน้าอก รักแร้ ขาหนีบ หรือรอบอวัยวะเพศ  
  • โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นแดงลอกทั่วตัว (Erythrodermic Psoriasis) เป็นชนิดที่รุนแรงและพบได้น้อย เพราะสามารถเกิดขึ้นได้ประมาณ 3% โดยผิวหนังจะเกิดผื่นแดงขนาดใหญ่และลอกอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกคันและเจ็บ

สาเหตุ โรคสะเก็ดเงิน

สาเหตุของโรคสะเก็ดเงินยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่โดยรวมมาจากหลาย ๆ ปัจจัยร่วมกัน เช่น ภูมิคุ้มกันผิดปกติ หรือ เกิดจากพันธุกรรม โดยปกติเซลล์ผิวหนังจะเกิดขึ้นมาใหม่ทดแทนเซลล์ตายที่หลุดออกเป็นขี้ไคล แต่ในรายที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน เซลล์ผิวหนังจะแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ ทำให้เซลล์ผิวหนังที่แก่ตัวหลุดไม่ทันการแบ่งตัวของเซลล์ใหม่ ผิวหนังบริเวณดังกล่าวจึงหนาขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นผื่นสะเก็ดหนา
อย่างไรก็ตาม โรคสะเก็ดเงิน ไม่ได้มีเพียงปัจจัยทางด้านพันธุกรรมเท่านั้น แต่มักจะมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามากระตุ้นร่วมด้วย ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคดังกล่าว ต้องหมั่นสังเกตอาการตนเอง หาสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคให้พบ เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดโรคซ้ำขึ้นมาอีก

อาการ โรคสะเก็ดเงิน

อาการของโรคสะเก็ดเงินนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลและขึ้นอยู่กับประเภทของโรคสะเก็ดเงิน บริเวณของโรคสะเก็ดเงินสามารถมีขนาดเล็กเท่าเกล็ดบาง ๆ บนหนังศีรษะหรือข้อศอกหรือครอบคลุมส่วนใหญ่ของร่างกาย

อาการที่พบบ่อยที่สุดของโรคสะเก็ดเงิน คือ :

  • ผิวแดง, นูน , แผ่นผิวหนังอักเสบ ผิวเป็นเกล็ดมีสีขาวเงินร่วมกับสีแดง
  • ผิวแห้งที่อาจแตกและมีเลือดออก
  • มีอาการแสบบริเวณผิวที่เป็นแผ่น
  • เล็บหนาและแตก
  • ข้อต่อบวมและปวดเมื่อย

อาการเหล่านี้อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน  บางคนจะมีอาการแตกต่างกันออกไป หากพวกเขาเป็นโรคสะเก็ดเงินชนิดทั่วไป

คนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน คือจะต้องผ่าน “วงจร” ของโรค บางครั้งอาจเกิดอาการรุนแรงในสองสามวันหรือหลายสัปดาห์และจากนั้นอาการอาจชัดเจนขึ้นและหายไปจนแทบจะมองไม่เห็น จากนั้นในไม่กี่สัปดาห์อาการอาจจะแย่ลงอีก บางครั้งอาการของโรคสะเก็ดเงินจะหายไป หรือหากคุณมีวิธีการรักษาโรคสะเก็ดเงินไม่ให้กำเริบ อาการก็จะทุเลาลงได้

เมื่อคุณไม่มีอาการแสดงว่าโรคนั้นอาจจะ “สงบลง”” นั่นไม่ได้หมายความว่าโรคสะเก็ดเงินจะไม่กลับมาอีก เพียงแค่ว่าตอนนี้คุณไม่มีอาการ

การรักษา โรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงินไม่สามารถรักษาได้หายขาด แต่การรักษาทำได้เพียงบรรเทาอาการให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น ลดการอักเสบและผิวหนังที่ตกสะเก็ด ชะลอการเติบโตของเซลล์ผิวหนัง และขจัดผิวหนังที่เป็นแผ่นแข็ง ซึ่งการรักษาสามารถทำได้หลายวิธี ผู้ป่วยที่มีอาการเพียงน้อยถึงปานกลางอาจรักษาด้วยการใช้ยาทาภายนอก ส่วนในรายที่มีอาการปานกลางไปจนถึงรุนแรง แพทย์อาจรักษาด้วยการใช้ยารับประทาน ยาฉีดเข้าเส้น หรือการฉายแสงด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต การรักษาอาจใช้หลายวิธีควบคู่กันหรือเพียงวิธีเดียว เพื่อช่วยให้อาการดีขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยควรมีการดูแลเรื่องการรับประทานอาหาร ระมัดระวังการรับประทานวิตามินเสริม หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ รวมไปถึงลดน้ำหนักลงให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นให้โรคกำเริบขึ้นมาได้

[Total: 0 Average: 0]