หิด (Scabies) คือโรคผิวหนังที่เกิดจากตัวหิดที่รู้จักกันในชื่อ Sarcoptes scabiei เป็นไรชนิดหนึ่งสามารถมีชีวิตอยู่บนผิวคนได้เป็นเวลาหลายเดือน ตัวหิดนี้สามารถขุดผิวหนังลงไปและวางไข่ ทำให้เกิดผื่นแดงคันบนผิวหนัง หรือกัดกินเซลล์ผิวของคุณทำให้เป็นผื่น (rash) ผิวมีอาการคัน (itchy skin) และแดงที่ผิวหนัง อาการคันรุนแรงอาจเกิดมาจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันร่างกายที่มีต่อน้ำลายและไข่ของตัวหิด โรคหิดเป็นโรคติดต่อทางผิวหนัง
ประเภทของหิด
หิดต้นแบบ (Classic scabies)
หิดต้นแบบมีลักษณะเป็นตุ่มคัน แดง ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง หรือผื่นที่เกิดจากการเกา (คัน) สำหรับลักษณะของผื่นต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น จะขึ้นกระจายไปทั่วตัว หรือบริเวณที่ผิวมีอุณหภูมิอุ่น เช่น ง่ามนิ้วมือ นิ้วเท้า ข้อมือ ข้อศอก ข้อเท้า รักแร้ รอบหัวนม รอบสะดือ ท้อง ก้น หัวหน่าว อวัยวะเพศชาย ลูกอัณฑะ ขาหนีบ หากเกามาก ๆ อาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้
หิดนอร์เวย์
หิดนอร์เวย์เป็นการติดเชื้อหิดที่รุนแรง เนื่องจากมีหิดหลายพันตัวอาศัยอยู่บนผิวหนัง หิดทั่วไปสามารถมีอาการรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นหิดนอร์เวย์ได้ หากมีจำนวนหิดเพิ่มขึ้นและไม่ได้รับการรักษา อาจจะลามไปส่วนอื่น ๆ เช่น ศีรษะ คอ และเล็บ หรือทั่วร่างกาย แต่หิดชนิดนี้อาจจะไม่ทำให้เกิดอาการคัน ผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการได้โดย ผิวหนังจะมีสะเก็ดนูนหนาขึ้นเพราะมีตัวหิดรวมตัวกัน โดยมักมีลักษณะคล้ายกับโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเป็นหิดนอร์เวย์
- ผู้ป่วย HIV
- ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease)
- ผู้ป่วยดาวน์ซินโดรม
สาเหตุ หิด
บางคนอาจจะติดโรคนี้มาจากคนอื่น หรือไรตามที่นอน เมื่อหิดมาอาศัยอยู่บนตัวคนแล้วหิดตัวเมียจะทำการขุดเจาะผิวหนังวางไข่ในวันละ 1-3 ฟอง หิดตัวเมียจะขุดผิวหนังต่อไปเรื่อย ๆ วันละ 2-3 มิลลิเมตร และวางไข่ไปได้เรื่อย ๆ ประมาณ 1-2 เดือนจนกว่าจะหมดวงจรชีวิต หิดจะขุดเฉพาะผิวหนังชั้นบนสุดเท่านั้น และหิดตัวผู้ก็จะมาผสมพันธุ์ หลังจากผสมพันธุ์วงจรชีวิตของหิดตัวผู้จะสิ้นสุดลง ส่วนหิดตัวเมียจะเริ่มวางไข่และเริ่มวงจนชีวิตใหม่ โดยไข่ที่วางจะฟักตัวภายใน 3-4 วัน และหิดจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่ได้รับการรักษา
อาการ หิด
อาการของหิดหลังจากได้รับเชื้อหิดในเบื้องต้นอาจใช้เวลาถึงหกสัปดาห์กว่าที่อาการจะปรากฏ อาการมักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในคนที่เคยเป็นหิดมาก่อน โดยผู้ป่วยจะมีอาการดังนี้
- มีอาการคันอย่างรุนแรงที่ผิว อาการของหิดมักจะแย่ลงในช่วงกลางคืน
- หากเกาบริเวณที่มีอาการมากไป อาจจะก่อให้เกิดการติดเชื้อทางผิวหนัง
- มีผื่นขึ้นบริเวณที่มีตัวหิดฝังตัวอยู่
หิดมักพบมากในบางบริเวณของร่างกาย และสามารถพบได้ในทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยมักพบได้บ่อยบริเวณดังนี้:
- ข้อมือ
- ง่ามนิ้วมือ
- อวัยวะเพศชาย
- รักแร้
- ก้น
- ข้อศอก
- ใต้ราวนม
- เอว
การรักษา โรคหิด
การรักษาหิดนั้นมีหลายวิธี แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ก่อน การรักษาหิดสามารถทำได้โดยการทายาที่แพททย์สั่งจ่ายให้ ซึ่งเป็นโลชั่นที่สามารถนำไปใช้โดยตรงกับผิว นอกจากนี้ยังมียาชนิดรับประทานด้วย โดยส่วนใหญ่แล้วยาทามักจะทาในเวลากลางคืน จึงไม่จำเป็นต้องกังวลในการดำเนินชีวิตประจำวัน
ยารักษาโรคหิด
ครีมหรือยาทาหิดที่แพทย์มักสั่งจ่ายให้มีดังนี้:
- sulfur 10%
- ครีม crotamiton 10%
- โลชั่น lindane 1%
- โลชั่น benzyl benzoate 25%
- ครีมเพอร์เมทริน (permethrin) 5%
ทั้งนี้ผู้ป่วยควรปฎิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดในการทาครีมหรือโลชั่นเพื่อกำจัดตัวหิด
นอกจากนี้แพทย์อาจจะให้ยาอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อช่วยรักษาอาการข้างเคียงที่เกิดจากหิด เช่น :
- ยาแก้อาการระคายเคืองจำพวก Benadryl (diphenhydramine) หรือโลชั่น pramoxine ที่ช่วยให้ผิวหายจากอาการคัน
- ครีมจำพวกสเตียรอยด์ ที่ป้องกันอาการ บวม คัน
- ยาฆ่าเชื้อ
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เป็นหิดทั้งตัว หรือ รักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจจะสั่งยาที่เรียกว่า ivermectin (Stromectol)
ในช่วงสัปดาห์แรกของการรักษา อย่าเป็นกังวลหากอาการเหมือนว่าจะแย่ลง หลังจากหนึ่งสัปดาห์ผ่านไปผู้ป่วยจะสังเกตเห็นว่าอาการคันน้อยลง และจะดีขึ้นหรือหายไปภายในสี่สัปดาห์ หากอาการยังไม่ดีขึ้นหลังจากนั้น ควรกลับไปพบแพทย์ทันที