การผ่าตัดตกแต่งลิ้นไก่และเพดานอ่อน (Uvulopalatopharyngoplasty: UPPP)

การผ่าตัดเพื่อลดขนาดของเพดานอ่อนและลิ้นไก่ คือ การทำให้มีขนาดเล็กลง โดยไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อการกลืนอาหาร หรือการพูด ลิ้นไก่นั้นคนทั่วไป เข้าใจว่าเป็นอวัยวะสำคัญ ถ้าไม่มีหรือสั้นลงจะทำให้พูดไม่ชัด แท้ที่จริงแล้ว ลิ้นไก่เป็นเนื้อเยื่อส่วนเกินที่ช่วยให้การกลืนการพูดมีประสิทธิภาพขึ้น อวัยวะที่สำคัญจริงๆ ที่ป้องกันไม่ให้สำลักเวลากลืน หรือเสียงไม่ขึ้นจมูก คือกล้ามเนื้อบริเวณเพดานอ่อนที่ทำหน้าที่เป็นหูรูดปิดช่องระหว่างช่องคอและช่องหลังโพรงจมูกในขณะกลืน ที่มีชื่อทางการแพทย์ว่า กล้ามเนื้อ Tensor Veli Palatini ดังนั้นในการผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อน อาจทำให้ผู้ป่วยไม่มีลิ้นไก่หลังผ่าตัด แต่ยังสามารถพูดและรับประทานอาหารได้อย่างเป็นปกติ ทั้งนี้เพราะไม่มีการกระทบกระเทือนต่อการทำงานของกล้ามเนื้อที่สำคัญดังกล่าว           

โดยทั่วไปแพทย์จะผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลออกไปด้วยพร้อมกันเพื่อทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้นอีก ทั้งนี้ไม่ทำให้การกำจัดเชื้อโรคในบริเวณนี้ผิดปกติไป ภูมิต้านทานยังคงทำหน้าได้อย่างปกติ หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอ กลืนเจ็บ ต้องรับประทานอาหารอ่อน เป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ และควรหลีกเลี่ยงการไอ กระแอม ขากเสมหะ หรือพูดมาก

ทำโดยการผ่าตัดเพื่อเอาเนื้อเยื่อที่หย่อนบริเวณลิ้นไก่และเพดานอ่อนบางส่วนออกเล็กน้อย (ยังมีลิ้นไก่เหลืออยู่) และเย็บซ่อมสร้างด้วยไหมละลายเพื่อทำให้ทางเดินหายใจบริเวณคอหอยกว้างขึ้น วิธีนี้นิยมทำร่วมกับการผ่าตัดทอนซิล (tonsillectomy) โดยการผ่าตัดจะทำผ่านทางการใส่เครื่องมือทางช่องปาก (ไม่มีแผลที่เห็นได้จากภายนอก) ภายใต้การดมยาสลบ และใช้เวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด

    ผู้ป่วยควรจะรักษาสุขภาพให้แข็งแรง  เช่น พักผ่อนอย่างเพียงพอ  เพื่อป้องกันไข้หวัดหรือ การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน  ซึ่งอาจทำให้ต้องเลื่อนการผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยบางรายที่รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน หรือ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ต้องหยุดยาก่อนผ่าตัดหลายวัน    ทั้งนี้ต้องปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินความพร้อมของผู้ป่วยสำหรับการผ่าตัด    ซึ่งอาจต้องตรวจเลือด ภาพถ่ายรังสี หรือ คลื่นหัวใจแล้วแต่ความจำเป็นและถ้าผลตรวจปกติ ผู้ป่วยที่เลือกการผ่าตัดแบบใช้ยาชาเฉพาะที่ สามารถมาโรงพยาบาลวันที่นัดทำผ่าตัดได้เลย

ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัด

    โดยทั่วไปมักไม่รุนแรงและพบน้อยไม่ถึงร้อยละ 5 ได้แก่ เลือดออกจากแผลผ่าตัด ซึ่งปกติมักมีปริมาณไม่มากและหยุดได้เอง แต่บางรายถ้าเลือดออกไม่หยุดอาจต้องไปทำการห้ามเลือดในห้องผ่าตัด  ผู้ป่วยอาจรู้สึกหายใจลำบากจากการบวมของทางเดินหายใจรอบแผลผ่าตัด ซึ่งถ้าอาการรุนแรง อาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเจาะหลอดลมคอ นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการสำลักน้ำ หรือ อาหารขึ้นจมูกถ้ารับประทานอาหารและกลืนอย่างรวดเร็ว ซึ่งพบน้อยมากที่จะเป็นนานเกิน 1 เดือน ผู้ป่วยสามารถพูดได้ชัดปกติ และมีผลต่อเสียงหรือ การพูดน้อย  ยกเว้นผู้ที่ต้องใช้เสียงเป็นอาชีพ เช่น นักร้อง หรือ นักพากษ์ ท่านควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน

     นอกจากความเสี่ยงจากการผ่าตัดแล้วยังมีความเสี่ยงจากผลข้างเคียงของการใช้ยาชาเฉพาะที่ เช่น ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม  หูอื้อ  ซึ่งอาการเหล่านี้มักหายได้เอง อย่างไรก็ตามแม้ว่าผลข้างเคียงที่รุนแรงจะพบได้น้อยมาก แต่ ผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับและมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือ มีโรคหัวใจ หรือ โรคปอดร่วมด้วย จะมีอัตราเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูงขึ้o

[Total: 0 Average: 0]