การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Stem Cell Transplantation) คือ การรักษาผู้ป่วยโดยการนำเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดมาให้แก่ผู้ป่วยทางหลอดเลือดดำ เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดที่นำมาให้จะสามารถเคลื่อนเข้าไปในโพรงกระดูกของผู้ป่วย และแบ่งตัวสร้างเม็ดเลือดใหม่ได้ หรือที่เรียกว่า การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
การปลูกถ่ายไขกระดูกเป็นการแทนที่เซลล์ที่ไม่แข็งแรงหรือเซลล์ที่ผิดปกติในไขกระดูกด้วยเซลล์ต้นกำเนิดที่แข็งแรงและปกติ เนื่องจากเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดสามารถเก็บได้จาก 3 แหล่งในร่างกายมนุษย์ คือ
- การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจึงมักถูกเรียกเป็นการปลูกถ่ายไขกระดูก
- การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากกระแสเลือด
- และการปลูกถ่ายเลือดจากสายสะดือ
เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดที่ปกติสามารถหาได้จากผู้บริจาค ซึ่งอาจจะเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรืออาจจะเป็นอาสาสมัครผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ (หรือในบางกรณีของโรคมะเร็ง อาจใช้เซลล์ต้นกำเนิดของตัวผู้ป่วยเอง) เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดนั้นจะถูกนำมาให้ผู้ป่วย (ผู้รับ) ทางสายสวนหลอดเลือดดำ หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการเตรียมการโดยการรับยาเคมีบำบัดขนาดสูงแล้ว (บางกรณีใช้การฉายรังสีรักษาทั่วตัวร่วมด้วย) โดยเซลล์ต้นกำเนิดจะเจริญเติบโต เพิ่มจำนวน และพัฒนาไปเป็นเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ที่แข็งแรงในที่สุด
การปลูกถ่ายไขกระดูกใช้รักษาโรคใดได้บ้าง
ปัจจุบันมีโรคหลายชนิดที่สามารถรักษาได้ด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก ส่วนใหญ่จะเป็นโรคที่ทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดที่ไขกระดูกลดลงหรือผิดปกติ เช่น โรคไขกระดูกฝ่อ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียที่มีอาการรุนแรง โรคบกพร่องทางภูมิคุ้มกันชนิดต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้โรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งที่อวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งโรคพันธุกรรมเมตาโบลิคบางชนิดก็สามารถรักษาโดยการปลูกถ่ายไขกระดูกได้ สำหรับโรคบางอย่าง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือมะเร็งอวัยวะต่าง ๆ สามารถใช้ไขกระดูกของผู้ป่วยเองนำมาเก็บแช่แข็งไว้เพื่อใช้ในการปลูกถ่ายไขกระดูก แต่สำหรับโรคธาลัสซีเมียต้องใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากผู้อื่นเท่านั้น เพราะเป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดแดงของผู้ป่วยเอง
การปลูกถ่ายไขกระดูกในผู้ป่วยธาลัสซีเมียการรักษาวิธีนี้ใช้สำหรับผู้ป่วยธาลัสซีเมียที่มีอาการรุนแรงเท่านั้น ได้แก่ ผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการซีด และจำเป็นต้องได้รับเลือดตั้งแต่อายุน้อยกว่า 1 ปี หรือผู้ป่วยที่ต้องได้รับเลือดบ่อย ๆ การทำปลูกถ่ายไขกระดูกในผู้ป่วยที่อายุน้อยมีโอกาสได้ผลดีมากกว่าผู้ป่วยที่อายุมาก เพราะผู้ป่วยที่มีอายุมากได้เลือดมาหลายครั้งมีโอกาสที่ธาตุเหล็กจะสูงและสะสมตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น หัวใจ ตับ ตับอ่อน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะสร้างแอนติบอดี้ต่อเม็ดเลือดขาวที่ปะปนมาในเลือดที่ได้ ทำให้มีโอกาสต่อต้านไขกระดูกที่ได้รับ และเกิดการสลัดไขกระดูกทำให้กลับมาเป็นโรคธาลัสซีเมียได้สูงขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่ม้ามโตมาก ก่อนการปลูกถ่ายไขกระดูกอาจจำเป็นต้องได้รับเลือดถี่ขึ้นเพื่อลดขนาดม้าม ถ้าม้ามไม่ยุบลงอาจต้องพิจารณาตัดม้ามก่อนการปลูกถ่ายไขกระดูกด้วย เพื่อให้มีโอกาสประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายไขกระดูกเพิ่มขึ้น