การตัดชิ้นเนื้อที่ปอด (Lung biopsy) คือ มี 2 วิธี คือการตัดชิ้นเนื้อปอดชนิดปิดและชนิดเปิด โดย ตัดชิ้นเนื้อปอดออกมาเพื่อตรวจดูเซลล์ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร การตัดชิ้นเนื้อปอดชนิดปิด จะต้องฉีดยาชาเฉพาะที่แล้วตัดชิ้นเนื้อผ่านทางหลอดลม หรือดูดผ่านทางท่อส่วน การตัดชิ้นเนื้อปอดชนิดเปิด ต้องให้ยาสลบในห้องผ่าตัด การตัดชิ้นเนื้อปอดมักจะทำหลังจากการเอกซเรย์ทรวงอก (chest X – ray) ตรวจวินิจฉัยโรคเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) และส่องกล้องตรวจหลอดลม (bronchoscopy) ที่ไม่สามารถแยกได้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร การตัดชิ้นเนื้อปอดอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้แก่ มีเลือดออก (bleeding) ติดเชื้อ (infection) และมีลมในช่องเยื่อหุ้มปอด (pneumothorax)
วัตถุประสงค์
เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคปอด
การเตรียมผู้ป่วย
1.บอกผู้ป่วยว่าการตรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อยืนยันหรือชี้ขาด (rule out) การวินิจฉัยโรคปอด
2.บอกผู้ป่วยว่าต้องมีการตรวจเอกซเรย์ทรวงอก (Chest X – ray) และเจาะเลือดเพื่อตรวจหา prothrombin time, activated partial thromboplastin time, platelet Count ซึ่งจะต้องตรวจก่อนการตัดชิ้นเนื้อ
3.บอกวิธีการตัดชิ้นเนื้อให้ผู้ป่วยทราบ
4.บอกผู้ป่วยว่าต้องงดน้ำงดอาหารหลังเที่ยงคืนก่อนตรวจ
5.บอกผู้ป่วยหรือญาติให้เซ็นใบยินยอมรับการตรวจรักษาให้เสร็จเรียบร้อยก่อนตรวจ
6.ตรวจสอบว่าผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยาชาเฉพาะที่หรือไม่
7.ให้ยานอนหลับตามแผนการรักษา 30 นาทีก่อนตัดชิ้นเนื้อเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย บอกผู้ป่วยว่าจะได้รับการฉีดยาชาเฉพาะที่ แต่จะรู้สึกเจ็บขณะที่เข็มสัมผัสกับปอดเท่านั้น
8.ให้ผู้ป่วยนอนขณะที่ตัดชิ้นเนื้อปอด
การตรวจและการดูแลหลังตรวจ
1.หลังจากเลือกตำแหน่งที่เจาะตัดชิ้นเนื้อได้แล้วผู้ตรวจจะทำเครื่องหมายไว้ที่ผิวหนังผู้ป่วย และเอกซเรย์เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง
2.จัดให้ผู้ป่วยนั่งโดยวางแขนบนโต๊ะคร่อมเตียง และนั่งนิ่ง ๆ บอกให้ผู้ป่วยกลั้นการไอเอาไว้
3.เตรียมผิวหนังบริเวณที่จะตัดชิ้นเนื้อ และจัดเสื้อผ้า (drape) บริเวณนั้น
4.ใช้เข็มเบอร์ 25G ฉีดยาชาเหนือซี่โครงที่อยู่ต่ำกว่าตำแหน่งที่เลือกไว้แล้วเพื่อป้องกันการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทและหลอดเลือดระหว่างซี่โครง
5.ใช้เข็มเบอร์ 22G แทงลงไปยังผนังทรวงอก เยื่อหุ้มปอด ลงไปที่ก้อนเนื้อหรือเนื้อเยื่อปอด
6.นำชิ้นเนื้อใส่ในขวดที่เก็บชิ้นเนื้อที่ใส่นำยาฟอร์มาลิน 10%
7.กดบริเวณที่ตัดชิ้นเนื้อทันทีเพื่อหยุดเลือด และปิดด้วยผ้าพันแผล
8.บันทึกสัญญาณชีพทุก 15 นาทีเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ต่อมาวัดทุก 1 ชั่วโมงเป็นเวลา 4 ชั่วโมง แล้วทุก 4 ชั่วโมง จนสัญญาณชีพคงที่ เฝ้าระวังการมีเลือดออกภาวะหายใจลำบาก หายใจเร็วขึ้น ฟังเสียงหายใจบริเวณที่ตัดชิ้นเนื้อ อาจได้ยินเสียงลดลง อาจมีอาการเขียวคล้ำ และอาจมีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ภาวะลมในช่องเยื่อหุ้มปอด มีการเสียเลือด ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตัดชิ้นเนื้อปอดหรือไม่ แพทย์มักจะเอกซเรย์ทรวงอกซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
9.ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารตามปกติหลังจากตัดชิ้นเนื้อเรียบร้อยแล้ว
ข้อควรระวัง
- ห้ามตัดชิ้นเนื้อปอด ถ้ามีรอยแยกของผนังปอดจากบริเวณที่จะตัดชิ้นเนื้อมีลมใต้ผิวหนัง มีถุงน้ำ มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด ออกซิเจนในเนื้อเยื่อต่ำ (hypoxia) ภาวะความดันในหลอดเลือดแดงในปอดสูง (pulmonary hypertension) หรือเป็นโรคหัวใจเพราะปอดชนิดเรื้อรัง (cor pulmonale)
- ขณะที่ตัดชิ้นเนื้อ พยาบาลควรสังเกตลักษณะการหายใจของผู้ป่วย เช่น หายใจลำบาก ชีพจรเต้นเร็ว มีอาการเขียว หากมีอาการดังกล่าวต้องรายงานให้แพทย์ทราบทันที
- ให้ผู้ป่วยอยู่นิ่ง ๆ เพราะการไอและการเคลื่อนไหวขณะตัดชิ้นเนื้อจะทำให้เนื้อเยื่อปอดฉีกขาดได้
ผลการตรวจที่เป็นปกติ
ถ้าเนื้อเยื่อปอดเป็นปกติ จะพบว่าพื้นผิวของท่อถุงลม (alveolar ducts) ผนังถุงลม alveolar walls) กิ่งก้านของหลอดลมใหญ่ หรือหลอดลมฝอย (bronchioles) หลอดเลือดเล็ก (small vessels) มีลักษณะเป็นแบบเดียวกัน
ผลการตรวจที่ผิดปกติ
จากการตรวจทางจุลกายวิภาคศาสตร์ (Histology) ของเนื้อเยื่อปอดพบว่าเป็นมะเร็งปอด พบสความัสเซลล์ (squamous cell) เซลล์จะมีรูปร่างเล็กกลม (oat cell carcinoma) มะเร็งเป็นชนิดต่อม (adenocarcinoma) และควรดูจากการเพาะเชื้อจากเสมหะ ถ่ายภายรังสีทรวงอก (chest – X – rays) ส่องกล้องเข้าไปในหลอดลม (bronchoscopy) และซักประวัติของผู้ป่วย เพื่อยืนยันการเป็นมะเร็งปอดหรือ เป็นโรคปอด (parenchymal pulmonary disease)