การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker Implantation)

การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker implantation) เป็นหัตถการเพื่อฝังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าไปในผนังหน้าอก ใต้ผิวหนังของผู้ป่วยเพื่อกระตุ้นจังหวะการเต้นของหัวใจ โดยส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังหัวใจห้องที่ทำงานผิดปกติ สัญญาณไฟฟ้าจะช่วยให้หัวใจเต้นเร็วพอ ที่จะสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายและอวัยวะส่วนอื่นๆ ได้มากเพียงพอ

วิธีการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ มีกี่แบบอะไรบ้าง

  1. การใส่สายที่เยื่อบุหัวใจด้านใน (Endocardial Lead) เป็นวิธีที่ใส่โดยทั่วไป
  2. การใส่ที่เยื่อบุหัวใจด้านนอก (Epicardial Lead) มักใส่ในผู้ป่วยเด็ก หรือหลังจากผ่าตัดหัวใจ

การเตรียมตัวก่อนใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ

  1. งดยาตามแพทย์แนะนำ
  2. งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ก่อนฝังเครื่อง
  3. ถอดอุปกรณ์และเครื่องประดับต่างๆเก็บไว้ที่ห้องพัก
  4. เจ้าหน้าที่จะโกนขนบริเวณหน้าอกข้างที่จะใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (แพทย์นิยมใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแขนข้างที่ผู้ป่วยไม่ถนัด)
  5. พยาบาลจะเปิดเส้นเลือด เพื่อให้น้ำเกลือบริเวณข้อมือด้านใดด้านหนึ่ง

การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ

  1. ในห้องตรวจเมื่อผู้ป่วยนอนบนเตียงจะมีเจ้าหน้าที่ ทำการติดอุปกรณ์เพื่อตรวจวัดสัญญาณชีพตลอดระยะเวลาที่ทำหัตถการ
  2. พยาบาลจะทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณหน้าอก
  3. แพทย์ฉีดยาชาเฉพาะที่ ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บปวด แต่ถ้ารู้สึกเจ็บปวดมากสามารถบอกแพทย์ได้ตลอดเวลา
  4. แพทย์เปิดแผลบริเวณใต้ไหปลาร้าข้างใดข้างหนึ่งเพื่อทำการใส่สายไปตามหลอดเลือดดำเข้าสู่หัวใจ และวางตำแหน่งที่เหมาะสม
  5. หลังจากนั้นแพทย์จะทำการต่อสายเข้ากับตัวเครื่องช่วยการเต้นของหัวใจ แล้วฝังไว้ต้ผิวหนัง
  6. ทำการเย็บปิดแผล

การทำงานของเครื่องเป็นอย่างไร

  • เครื่องจะตรวจการส่งสัญญาณไฟฟ้าในหัวใจ ถ้าพบว่ามีการนำไฟฟ้าที่ช้ากว่าปกติ หรือนำไฟฟ้าติดขัดรุนแรง เครื่องจะกระตุ้นเพื่อให้หัวใจบีบตัวได้ปกติตามที่ควรจะเป็น
  • เครื่องจะมีการบันทึกในกรณีเต้นเร็วผิดปกติไว้ด้วย เพื่อช่วยในการติดตามดูแลต่อเนื่องในระยะยาว

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

  1. หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  2. สายเลื่อนหลุด
  3. เลือดออก
  4. ติดเชื้อ
  5. กล้ามเนื้อหัวใจทะลุ
  6. ปอดแตก

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

  1. หลีกเลี่ยงการนวดหน้าอก
  2. บริเวณที่มีคลื่นไฟฟ้า หรือ สนามแม่เหล็กแรงสูง
  3. หากต้องผ่าตัดหรือรักษาด้วยการฉายแสงหรือตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบว่าใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ และพิจารณาก่อนเข้าเครื่อง
  4. ควรพกบัตรประจำตัวผู้ได้รับการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจเสมอ
[Total: 1 Average: 5]