โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ปกติ  หัวใจของคนเรา (ชีพจร) จะเต้นประมาณ 60-100 ครั้ง/นาที (ส่วนใหญ่ 72-80 ครั้ง/นาที) จังหวะสม่ำเสมอ และแรงเท่ากัน ทุกครั้ง

ภายหลังการออกกำลังกาย ตื่นเต้นตกใจ ดื่มชากาแฟ เครื่องดื่มเข้ากาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ กินยากระตุ้น (เช่น ยาแก้หืด ยาแก้หวัด หรือสูโดเอฟีดรีน แอมเฟตามีน ยาลดความอ้วน) หรือเป็นไข้ ชีพจรอาจเต้นเร็ว (> 100ครั้ง/นาที) ได้ ซึ่งถือว่าเป็นภาวะปกติธรรมดา   นอกจากนี้ผู้ที่มีภาวะช็อก ก็มักมีชีพจรเต้นเร็งแต่เบา

ผู้ที่ออกกำลังสม่ำเสมอ ชีพจรอาจเต้นช้า (< 60 ครั้ง/นาที) ได้ แสดงว่าร่างกายอยู่ในภาวะแข็งแรง (ฟิต) เต็มที่

แต่ในผู้ที่มีความผิดปกติของหัวใจก็อาจมีชีพจร ผิดปกติ เช่น เต้นช้าไป เร็วไป หรือเต้นไม่สม่ำเสมอหรือไม่เป็นจังหวะจึงเรียกรวม ๆ ว่าโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ  ซึ่งอาจแสดงอาการได้หลายอย่างด้วยกัน

สาเหตุ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

                ถ้าหัวใจเต้นช้ากว่า 50 ครั้ง/นาที เรียกว่า หัวใจเต้นช้า (bradycardia) อาจพบเป็นปกติในนักกีฬา หรือคนที่ร่างกายฟิตอาจเกิดจากภาวะกระตุ้นประสาท เวกัส (vagus) ซึ่งทำให้ชีพจรเต้นช้า เช่น อาการเจ็บปวด หิวข้าว ร่างกายเหนื่อยล้า การกลืน อาการอาเจียน หรือท้องเดิน  เป็นต้น อาจพบเป็นภาวะผิดปกติในผู้ที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด หรืออาจเกิดจากพิษของยา (เช่น ไดจอกซิน ยาปิดกั้นบีตา ยาอนุพันธ์ฝิ่น ยานอนหลับ ยาฆ่าแมลงออร์แกในฟอสเฟต) พิษปลาปักเป้า พิษคางคก ภาวะตัวเย็นเกิน ถ้าหัวใจเต้นเร็วกว่า 120 ครั้ง/นาที จังหวะอาจปกติหรืออาจไม่สม่ำเสมอและรงไม่เท่ากัน อาจพบในผู้ที่ เป็นโรคหัวใจรูมาติก โรคหัวใจขาดเลือด ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน พิษยาไดจอกซิน

                ถ้าหัวใจเต้นอยู่ในเกณฑ์ปกติ (60-100 ครั้ง/นาที) แต่มีบางจังหวะที่เต้นรัว หรือวูบหายไปก็อาจพบเป็นปกติในคนบางคน แต่ก็อาจพบในคนที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจรูมาติก หรือเกิดจากบุหรี่ ชา กาแฟ แอลกอฮอล์ ยากระตุ้น หรือเกิดจากพิษของยา

อาการ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

                ในรายที่เป็นไม่รุนแรงมักไม่รู้สึกว่ามีอาการผิดปกติแต่อย่างใด บางรายอาจเพียงรู้สึกใจเต้นรัวหรือใจวูบหายไปบางจังหวะ โดยไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย และยังสามารถทำงานได้ตามปกติ

                ในรายที่ชีพจรเต้นช้ามาก อาจมีอาการอ่อนเพลียสับสน เวียนศีรษะ เป็นลม

                ในรายที่ชีพจรเต้นเร็วมาก อาจมีอาการอ่อนเพลีย ใจสั้น หอบเหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอก เวียนศีรษะ ศีรษะโหวง ๆ เป็นลม

                นอกจากนี้ อาจมีอาการแสดงของโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น เจ็บหน้าอกในโรคหัวใจขาดเลือด  มือสั่น เหงื่อออก น้ำหนักลดใน ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน

การป้องกัน โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

  1. ผู้ป่วยที่บ่นว่ามีอาการใสสั่น ใจหวิว อาจเกิดจากโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือสาเหตุอื่น ๆ ควรซักถามอาการ ตรวจชีพจร (ควรจับชีพจรนาน 1-2 นาที เป็นอย่างน้อย) และใช้เครื่องฟังตรวจหัวใจ ถ้าชีพจรช้าหรือเร็วกว่าปกติหรือไม่สม่ำเสมอ  ก็แสดงว่าเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะจริงถ้าชีพจร 60 – 100 ครั้ง/นาที และต้นปกติ  อาจเกิดจากโรควิตกกังวล หรือโรคแพนิก สาเหตุของอาการใจสั่น
  2. ชา กาแฟ บุหรี่ และแอลกอฮอล์ อาจทำให้เกิดอาการใจสั่นหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ ถ้าเคยเป็น ควรงดเสพสิ่งเหล่านี้

การรักษา โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

                1.ในรายที่อัตราชีพจรอยู่ในเกณฑ์ปกติ (60 -100 ครั้ง/นาที) เพียงแต่ตรวจพบว่าชีพจรเต้นรัวหรือวูบหาย เป็นบางจังหวะ และผู้ป่วยรู้สึกสบายดี น่าจะเกิดจาก ภาวะหัวใจห้องบนหรือห้องล่างเต้นก่อนกำหนดก็ไม่ต้องให้ยารักษา เพียงแต่แนะนำให้ผู้ป่วยนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด หลีกเลี่ยงยาและ สารกระตุ้น (งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ กาเฟอีน ยาแก้หืด ยา แก้หวัด ยาลดความอ้วน เป็นต้น)

                แต่ถ้ามีอาการชีพจรเต้นรัวหรือวูบหายแบบถี่ ๆ นาทีละหลายครั้ง  หรือชีพจรเต้นจังหวะไม่สม่ำเสมอและ  แรงไม่เท่ากันตลอด (อาจเป็นภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว โดยมีอัตราชีพจร < 100 ครั้ง/นาที ก็ได้)  หรือมีอาการเจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย หรือฟังหัวใจได้ยิน เสียงฟู่  ก็ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อหาสาเหตุ

                สำหรับผู้ที่มีภาวะหัวใจห้องล่างเต้นก่อนกำหนด อาจพบว่ามีโรคหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย หรือลิ้นหัวใจพิการร่วมด้วย ถ้าตรวจพบ   แพทย์ก็จะทำการรักษาโรค เหล่านี้ ในรายที่มีโรคลิ้นหัวใจพิการ (ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิด ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็วและอาจทำให้เสียชีวิตฉับพลันได้)  แพทย์จะให้ยาปิดกั้นบีตา เช่น โพรพราโนลอลกินควบคุมอาการ

                2.ในราที่ชีพจร < 50 ครั้ง/นาที หรือ > 120 ครั้ง/นาที  หรือชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ และรงไม่เท่ากันตลอด  ถ้าพบว่าผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกมาก หายใจหอบเหนื่อย  แขนขาอ่อนแรงข้างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันเป็นลมหมดสติ หรือชัก ควรให้การรักษาขั้นต้น  แล้วส่งโรงพยาบาลหรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญภายใน 24 ชั่วโมง

                แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการตรวจคลื่นหัวใจ เอกซเรย์ ตรวจเลือด และตรวจพิเศษอื่น ๆ

การรักษา  แพทย์จะรีบแก้ไขภาวะแทรกซ้อนและ ให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจรูมาติก พิษจากยา (เช่น ไดจอกซิน) พร้อมทั้งให้การรักษาเพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจให้กลับเป็นปกติ ดังนี้

  •  ในรายที่มีภาวะหัวใจเต้นช้า แพทย์อาจให้ยกกระตุ้น ได้แก่ อะโทรพีน ถ้าไม่ได้ผลหรือ เป็นรุนแรงอาจจำเป็นต้องผ่าตัดใส่ตัวคุมจังหวะหัวใจ (cardiac pacemaier) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ผลิตประจุไฟฟ้ากระตุ้นการเต้นของหัวใจ
  • ในรายที่มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว มักจะต้องรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล ถ้ามีภาวะฉุกเฉินรุนแรงก็รีบให้การแก้ไข  และพิจารณาให้การรักษาเพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจให้กลับเป็นปกติ (cardioversion) โดยการใช้เครื่องช็อกหัวใจ (defibillator) หรือการใช้ยาร่วมกับการให้สารกันเลือดเป็นลิ่ม (เช่น เฮพาริน วาร์ฟาริน) ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้วิธีการรักษาและให้ยาตามระยะของโรคที่เป็นและความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดหลุดอุดตันหลอดเลือดสมอง

              หลังจากนั้นแพทย์จะให้ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ (antiarrhythmic) และสารกันเลือดเป็นลิ่ม (โดยให้กินวาร์ฟารินในรายที่มีความเสี่ยงสูงหรือแอสไพริน ในรายที่มีความเสี่ยงต่ำ) อย่างต่อเนื่อง 

                บางรายแพทย์อาจให้การรักษาด้วยวิธีตัดปม ประจุไฟฟ้าเอวี (atrioventricular/AV node ablation) โดยการแยงสายอิเล็กโทรดเข้าไปสร้างความร้อนทำลายเนื้อเยื่อ (catheter radiofrequency ablation) และถ้าการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ได้ผล ก็จะทำการผ่าตัดเนื้อเยื่อหัวใจส่วนที่เป็นต้นตอของโรค

  •  ในรายที่มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็วชนิดโรคกลับฉับพลัน (PAT) แพทย์จะให้ยาต้านหัวใจเต้น ผิดจังหวะควบคุมอาการ   เช่น ยาปิดกั้นบีตาผู้ป่วยส่วนน้อยที่ใช้ยาไม่ได้ผล อาจต้องทำการรักษา ด้วยเครื่องช็อกหัวใจ หรือตัดปมประจุไฟฟ้าเอวีด้วยการใส่สายอิเล็กโทรด

[Total: 0 Average: 0]