การผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification) คือ การสลายเลนส์ที่ขุ่นมัวจากสาเหตุของต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตราซาวนด์ และใส่เลนส์แก้วตาเทียมหรือเรียกชื่อย่อว่า lOL เข้าไปแทนที่ เพื่อปรับค่าสายตา
ก่อนจะมีเครื่องสลายต้อกระจกใช้ การผ่าตัดต้อกระจกต้องเปิดแผลใหญ่เพื่อเอาเลนส์ที่ขุ่น(ต้อกระจก)ออกมา การคิดค้นเครื่องสลายต้อกระจกขึ้นมา ช่วยให้ไม่ต้องเปิดแผลใหญ่ เป็นการใช้เข็มเล็กๆที่ขับเคลื่อนให้เข็มมีการขยับด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงทำให้เกิดแรงกระแทกที่กระทำต่อต้อกระจก ทำให้ต้อกระจกแตกออกเป็นผงเล็กๆ และสามารถดูดผ่านแผลเล็กๆ ขนาด 2.0-3.0 มิลลิเมตรออกมาได้ ทำให้มีการอักเสบน้อย แผลหายเร็ว ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานได้เร็ว
ปัจจุบันถือได้ว่า การผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เป็นวิธีมาตรฐานในการรักษาต้อกระจกที่ใช้กันมานานมากกว่า 25-30 ปี โดยที่เครื่องมือมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงและปลอดภัยมากขึ้นเรื่อยๆ
ปัจจุบันการผ่าตัดต้อกระจกด้วยนิยมทำ 2 วิธี คือ
- การผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification หรือ phaco)
- การผ่าตัดโดยการใช้เลเซอร์ช่วยผ่าตัดต้อกระจก (Femtosecond Laser Assisted Cataract Surgery หรือ FLACS)
วิธีการรักษา
แพทย์จะใช้คลื่นอัลตราซาวนด์เข้าไปสลายต้อกระจก ผ่านท่อขนาดเล็กที่สอดเข้าไปในดวงตาโดยเปิดปากแผลประมาณ 2-3 มิลลิเมตร คลื่นอัลตราซาวนด์จะทำให้เลนส์ที่ขุ่นมัวแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ และดูดเศษเลนส์ที่สลายเป็นชิ้นเล็กๆ ออกมาทางท่อขนาดเล็กที่สอดเข้าไป จากนั้นแพทย์จะแทยที่เลนส์ธรรมชาติด้วยเลนส์แก้วตาเทียมถาวร (intraocular lens หรือเรียกย่อว่า IOL)
การผ่าตัดทำโดยการหยอดยาชาเฉพาะที่เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บ หรืออาจฉีดยาเฉพาะที่เพื่อทำให้เกิดอาการชา และป้องกันไม่ให้ดวงตามีการเคลื่นไหว การผ่าตัดส่วนใหญ่ใช้เวลา 15 นาทีถึง 1 ชั่วโมง
ผู้ที่สามารถเข้ารับการรับการรักษาด้วยวิธีนี้
การผ่าตัดสลายต้อกระจกและเปลี่ยนใส่เลนส์แก้วตาเทียมเหมาะกับผู้ที่ไม่มีโรคทางตาอื่นๆ ผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจมีความเสี่ยงสูงและอาจทำให้ปัญหาทางตาแย่ลงจากการผ่าตัดนี้ แพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าผู้ป่วยรายใดที่เหมาะสมกับการผ่าตัด ด้วยวิธีนี้หลังจากตรวจร่างกายและให้คำปรึกษากับผู้ป่วย
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
การผ่าตัดต้อกระจกถือเป็นการผ่าตัดที่มีอัตราของการประสบผลสำเร็จที่สูงมากๆ โอกาสเกิดผลอันไม่พึงประสงค์พบได้น้อยมาก ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้แก่ ความดันลูกตาสูง การมีเลือดออกภายในลูกตา การติดเชื้อ การอักเสบมาก เศษเลนส์ตกค้าง ถุงเลนส์ฉีกขาด ทำให้ใส่เลนส์ไม่ได้ หรือใส่เลนส์ไปแล้วแต่เลนส์ตาอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม ค่าสายตาคลาดเคลื่อนไปจากที่แพทย์ตั้งใจ ทำให้เหลือสายตาที่ต้องแก้ไขด้วยแว่นหรือบางรายอาจต้องผ่าตัดซ้ำเพื่อเปลี่ยนเลนส์ใหม่ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงทางร่างกายอื่นๆ ได้แก่ การมีโรคหัวใจกำเริบ ความดันโลหิตสูงจากความวิตกกังวล การแพ้ยา เป็นต้น