การตรวจเอกซ์เรย์ด้วยโพสิตรอน หรือ การถ่ายภาพรังสีจากอนุภาคโพสิตรอนหลายระบบ คือ เทคนิคทางการแพทย์นิวเคลียร์ที่ช่วยสร้างภาพทางการแพทย์ (medical imaging) ซึ่งแสดงผลเป็นภาพสามมิติและให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการชีวเคมีของร่างกายหรือเมตาบอลิซึม (metabolism) ที่เฉพาะเจาะจง (metabolic information) เพื่อใช้วิเคราะห์ความผิดปกติต่างๆ ของร่างกาย และติดตามความก้าวหน้าของการรักษาทางการแพทย์ (therapy monitoring) นอกจากนี้ยังสามารถใช้เทคนิคนี้ในการช่วยศึกษาและติดตามกระบวนการชีวเคมีที่เฉพาะเจาะจงได้อีกด้วย ซึ่งสามารถใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคได้หลากหลาย ส่วนมากมักทำควบคู่กับการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
หลักการ การถ่ายภาพรังสีระนาบด้วยการปล่อยโพซิตรอน (Positron emission tomography: PET)
ถึงแม้ว่าเทคนิคนี้จะสามารถใช้เพื่อตรวจความผิดปกติของกระบวนการต่างๆ ในร่างกายได้อย่างเฉพาะเจาะจงและแม่นยำในระดับโมเลกุล ก่อนการเกิดโรคต่างๆ แต่การตรวจร่างกายด้วยวิธีนี้ได้นั้น ต้องอาศัยโมเลกุลที่ติดกับกัมมันตรังสี หรือเรียกในภาษาทางเคมีนิวเคลียร์ว่า “เรดิโอเทรเซอร์” (radiotracer) โดยโมเลกุลที่ใช้นั้นต้องมีความเฉพาะเจาะจงต่อเอนไซม์ที่ต้องการศึกษา เมื่อฉีดเรดิโอเทรเซอร์เข้าสู่ร่างกาย เทรเซอร์จะกระจายไปสู่อวัยวะหรือส่วนของร่างกายที่มีเอนไซม์ที่จับเทรเซอร์ได้ดี ส่วนของกัมมันตรังสีที่ไม่เสถียรจะสลายตัวและปลดปล่อยโพซิตรอนออกมา โพซิตรอนจะเดินทางได้ไม่กี่มิลลิเมตร (ขึ้นอยู่กับพลังงาน) จะไปชนและรวมตัวกับอิเล็กตรอน (annihilation) ได้รังสีแกมมา 2 โฟตอนที่มีพลังงาน 511 keV ในทิศทางตรงกันข้าม เครื่องตรวจจับรังสีแกมมาที่รายล้อมอยู่นั้นก็จะได้รับสัญญาณนั้น ส่งไปที่คอมพิวเตอร์เพื่อประมวลผลเป็นภาพสามมิติ
ที่ใช้ทางคลินิกของ การถ่ายภาพรังสีระนาบด้วยการปล่อยโพซิตรอน (Positron emission tomography: PET)
- Oncology PET scan มีที่ใช้ในการตรวจผู้ป่วยมะเร็งในแง่ของการวินิจฉัย การบอกระยะของโรค ประเมินผลการรักษา และการพยากรณ์โรค โดยสามารถตรวจผู้ป่วยได้ทั้งตัวในการตรวจครั้งเดียว
- Cardiology PET scanใช้ประเมินหัวใจในแง่การทำงานของหัวใจและ viability ของกล้ามเนื้อหัวใจ โดยประเมินจากกระแสเลือดที่ไปเลี้ยงและการใช้ออกซิเจนของกล้ามเนื้อหัวใจ ช่วยแยกกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดออกจากกล้ามเนื้อหัวใจตายซึ่งมีผลต่อการวางแผนการรักษา
- Neurology PET scan มีที่ใช้ในหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มเนื้องอกสมอง เหมือนใน oncology รวมถึงการแยกเนื้อตายหลังการรักษาออกจากเนื้องอกที่เหลืออยู่และกลับเป็นซ้ำ กลุ่ม Dementia ทั้งในแง่การวินิจฉัยแยกโรค และการพยากรณ์โรค เช่น Alzheimer’s disease และ Parkinson’s disease เป็นต้น และกลุ่มภาวะชัก โดยใช้ในการหาจุดกำเนิดชักเพื่อวางแผนผ่าตัดรักษา
เตรียมตัวก่อนไปตรวจ การถ่ายภาพรังสีระนาบด้วยการปล่อยโพซิตรอน (Positron emission tomography: PET)
ก่อนเข้ารับการตรวจ PET Scan ควรงดการออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลา 24 ชั่วโมง และงดรับประทานอาหารก่อนการตรวจเป็นเวลา 6 ชั่วโมง แต่สามารถดื่มน้ำเปล่าได้ตามปกติ เมื่อถึงวันที่แพทย์นัดตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจควรสวมเสื้อผ้าหลวม ๆ หรือสวมใส่สบาย และหลีกเลี่ยงการสวมเครื่องประดับที่ทำจากโลหะ
นอกจากนี้ ผู้เข้ารับการตรวจ PET Scan ควรมาถึงโรงพยาบาลตรงตามเวลาที่นัดหมาย เนื่องจากสารเภสัชรังสีที่จะถูกฉีดเข้าสู่ร่างกายสามารถเสื่อมสภาพได้เร็ว หากมาตรวจช้ากว่ากำหนดอาจทำให้ไม่สามารถเข้ารับการตรวจได้ นอกจากนี้ ถ้าผู้ป่วยมีอาการกลัวที่แคบ ควรแจ้งให้แพทย์ก่อนการตรวจ PET Scan อย่างน้อย 1 วัน เนื่องจากอาจต้องได้รับยาระงับประสาทเพื่อช่วยคลายความเครียด
การใช้งาน การถ่ายภาพรังสีระนาบด้วยการปล่อยโพซิตรอน (Positron emission tomography: PET)
โมเลกุลแรกที่ถูกนำมาใช้เป็นเรดิโอเทรเซอร์คือ [18F]ฟลูออโรดิออกซีกลูโคส หรือ [18F]-FDG ซึ่งเป็นโมเลกุลที่มีโครงสร้างคล้ายกลูโคส สามารถได้ภาพทางการแพทย์ของกระบวนการเผาผลาญกลูโคสในร่างกาย (glucose metabolism) ได้อย่างชัดเจน ซึ่งช่วยวิเคราะห์ความผิดปกติของการผิดปกติของการเผาผลาญกลูโคส เช่น ถ้าได้สัญญาณของการเผาผลาญกลูโคสที่สมองและกระเพาะปัสสาวะเท่านั้น ก็ถือได้ว่าเป็นปกติ แต่ถ้าพบที่จุดอื่นของร่างกายที่มีการเผาผลาญมากกว่าปกติ อาจสันนิษฐานได้ว่าบริเวณนั้นอาจจะเป็นเซลล์ที่เจริญเติบโตผิดปกติและอาจจะนำไปสู่มะเร็งก็เป็นได้ นอกจากนี้สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา อาจจะใช้วิธีนี้เพื่อติดตามความก้าวหน้าของการรักษา หรือสำหรับนักวิจัย สามารถใช้เทคนิคนี้ในการติดตามกระบวนการชีวเคมีอื่นๆ ของร่างกายได้อีกด้วย
นอกจากนี้ในปัจจุบันมีการพัฒนานำการตรวจ CT scan มาใช้ร่วมกับ PET scan เรียกว่า PET/CT scan เพื่อเพิ่มรายละเอียดทางด้านกายวิภาค ทำให้การตรวจนี้มีความสมบูรณ์มากขึ้น