การตรวจอัลตราซาวนด์ต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก (transrectal ultrasound: TRUS)

การตรวจอัลตราซาวนด์ต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก (transrectal ultrasound: TRUS) คือ การตรวจโดยใช้คลื่นเสียง ซึ่งแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดเข้าทางทวารหนักไปยังตำแหน่งของต่อมลูกหมาก จากนั้นจะใช้เข็มขนาดเล็กดูดเซลล์ต่อมลูกหมาก 12 ตัวอย่างจาก 12 ตำแหน่ง ออกมาตรวจทางพยาธิวิทยา

เมื่อไหร่ต้องทำการตัดตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก

ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากในรายที่ตรวจเลือดพบค่า พีเอสเอ (Prostate-specific antigen: PSA) สูงกว่าเกณฑ์ปกติซึ่งสารพีเอสเอนี้อาจจะสร้างมาจากเซลล์ต่อมลูกหมากปกติหรือเซลล์ต่อมลูกหมากที่เป็นมะเร็งก็ได้ นอกจากนี้ในรายที่ตรวจร่างกายทางทวารหนักพบความผิดปกติของต่อมลูกหมาก เช่น คลำได้ก้อนตะปุ่มตะป่ำ หรือ ลักษณะต่อมลูกหมากแข็งผิดปกติ ก็สมควรจะได้รับการตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากเช่นเดียวกัน

การเตรียมตัวก่อนทำการตรวจ

  • ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาปฏิชีวนะจากแพทย์ให้รับประทาน หรือฉีดเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการตัดตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก ซึ่งผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
  • ผู้ป่วยจะต้องได้รับการสวนอุจจาระทางทวารหนักก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
  • หลังจากสวนอุจจาระแล้วผู้ป่วยจะต้องงดน้ำงดอาหารยกเว้นแพทย์จะแนะนำเป็นอย่างอื่น
  • หากผู้ป่วยรับประทานยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือด ต้องหยุดยาก่อนทำหัตถการอย่างน้อย 7 วันหรือตามที่แพทย์แนะนำ และหากมียาอื่นใดที่ต้องรับประทานเป็นประจำควรแจ้งแพทย์ด้วย

อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้หลังการตรวจ

  1. ภาวะติดเชื้อ จะมีอาการไข้หนาวสั่น ปัสสาวะแสบขัดปวดหน่วงบริเวณฝีเย็บถือเป็นภาวะที่อันตรายต้องรีบรับการรักษา

การดูแล : รีบไปพบแพทย์ในทันทีเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

  1. ปัสสาวะเป็นเลือด

การดูแลเบื้องต้น : ดื่มน้ำเยอะ ๆ และนอนพัก งดทำงานหนักและออกแรง อาการมักดีขึ้นเองใน 2-3 วัน และถ้าหากมีเลือดสดปนออกจำนวนมากให้มาโรงพยาบาล

  1. ปัสสาวะไม่ออก

การดูแลเบื้องต้น : พาไปโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อใส่สายสวนปัสสาวะชั่วคราว

  1. เลือดออกทางทวารหนักและน้ำอสุจิมีเลือดปน

การดูแลเบื้องต้น : ลองสังเกตอาการไปก่อนส่วนใหญ่จะดีขึ้นเอง ถ้าออกมากหรือมีความกังวลใจให้มาพบแพทย์

การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัด

1.รับประทานยาปฏิชีวนะต่อเนื่องจนครบตามกำหนดถ้าหากไม่ได้รับกลับบ้านหลังทำผ่าตัดให้สอบถามกับแพทย์หรือพยาบาล

  1. หลังทำผ่าตัดจะปัสสาวะมีเลือดปนอยู่ประมาณ 3-4 วัน และอาจจะมีเลือดออกทางทวารหนักเล็กน้อย การดูแลให้รักษาทำความสะอาด และดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน ถ้าหากมีลิ่มเลือดขนาดใหญ่ให้สอบถามแพทย์หรือพยาบาล
  2. อาการปัสสาวะแสบขัดสามารถพบได้หลังการทำผ่าตัด ถ้ามีอาการมากสามารถนั่งแช่ก้นในอ่างน้ำอุ่นได้
  3. หลังทำหัตถการอาจพบน้ำอสุจิมีเลือดปน หรือมีสีคล้ำได้หลังทำประมาณ 1 เดือน
  4. หลังทำผ่าตัดถ้าหากมีอาการที่ผิดปกติ อาทิ คลื่นไส้ อาเจียน ไข้สูงหนาวสั่น ปัสสาวะแสบขัดมาก ให้มาพบแพทย์ทันที
  5. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ใน 24-48 ชั่วโมง หลังการผ่าตัด
  6. ควรมาตามนัดของแพทย์อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ แพทย์จะแนะนำตรวจชิ้นเนื้อในรายที่ตรวจเลือดพบค่าสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA) สูงกว่าเกณฑ์ปกติ ตรวจร่างกายพบความผิดปกติ เช่น คลำได้ก้อนเนื้อ หรือลักษณะต่อมลูกหมากแข็งผิดปกติ เป็นต้น

MRI/Ultrasound Fusion Biopsy เป็นเทคโนโลยีการสร้างภาพสามมิติพร้อมการทำอัลตราซาวนด์แบบ real-time ที่ช่วยให้แพทย์เห็นรายละเอียดและตำแหน่งของก้อนมะเร็งในต่อมลูกหมากได้อย่างชัดเจน ทำให้สามารถกำหนดบริเวณที่จะตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจได้อย่างแม่นยำโดยไม่ต้องสุ่มตรวจ

[Total: 0 Average: 0]