การกลืนสารทึบรังสีและถ่ายภาพรังสีถุงน้ำดี (Oral cholecystography) คือ การตรวจการทำงานของถุงน้ำดี เพื่อวินิจฉัยโรคนิ่วในถุงน้ำดี (Gall stone) ประเมินสภาพของถุงน้ำดี โดยดูขอบเขต ขนาด ลักษณะ และการทำหน้าที่ของถุงน้ำดีด้วยการถ่ายภาพเอกซเรย์ผ่านสารทึบรังสี
วัตถุประสงค์
เพื่อประเมินสภาพของถุงน้ำดีในผู้ป่วย ที่มีอาการปวดท้องเรื้อรังบริเวณท้องด้านขวาบน ปวดแสบในท้อง ท้องอืด หรือรับประทานอาหารไขมันไม่ได้
การเตรียมผู้ป่วย
1.บอกจุดประสงค์ของการตรวจ วิธีการตรวจและบอกด้วยว่าการตรวจนี้ใช้เวลาประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง จะไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดใด ๆ
2.ซักประวัติการแพ้อาหารทะเล เพราะการตรวจลักษณะนี้จะไม่ทำในผู้ป่วยที่แพ้สารไอโอดีน
3.ตอนเย็นก่อนตรวจ ให้รับประทานอาหารไขมันต่ำหรือไม่มีไขมัน (1 มื้อตอนเย็นก่อนวันที่จะตรวจ)
4.ก่อนตรวจ 12 ชั่วโมง เวลาประมาณ 20 – 21 น.ให้กลืนเม็ดยาทึบรังสีโดยให้กลืนครั้งละ 2 เม็ด ห่างกัน 5 นาที จนครบ 12 เม็ด ห้ามเคี้ยว และภายหลังกลืนเม็ดยาแล้วห้ามรับประทานอาหารและยาทุกชนิด
5.สังเกตอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปัสสาวะขัด ผื่นแดงตามตัว ถ้ามีอาการดังกล่าวต้องรายงานให้แพทย์ทราบทันที
6.ตรวจสอบแผนการรักษาของแพทย์ หากพบว่ามีแผนจะตรวจด้วยแป้ง แบเรียม หรือตรวจด้วยไอโอดีน (Iodine uptake) จะต้องจัดเวลาให้ห่างจากการตรวจครั้งนี้ไม่น้อยกว่า 1 เดือน
การตรวจและการดูแลภายหลังตรวจ
ถ่ายภาพเอกซเรย์ถุงน้ำดีในท่าต่าง ๆ แล้วให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารไขมันสูง และถ่ายภาพอีกครั้งหนึ่ง หากการตรวจครั้งนี้ไม่เห็นถุงน้ำดีหรือเห็นไม่ชัดเจน จะต้องนัดมาตรวจใหม่ในวันรุ้งขึ้น ซึ่งควรจะอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจด้วย
ข้อควรระวัง
1.ห้ามตรวจในผู้ป่วยที่มีเซลล์ของไตหรือตับถูกทำลายและผู้ที่แพ้ไอโอดีนอาหารทะเล หรือสารทึบรังสี
2.ห้ามตรวจในหญิงตั้งครรภ์ เพราะรังสีจะมีผลต่อความผิดปกติของการพัฒนาการของร่างกายของทารกในครรภ
ผลการตรวจที่เป็นปกติ
มองเห็นถุงน้ำดีชัดเจน ไม่มีสิ่งผิดปกติภายในถุงน้ำดี ไม่มีก้อนนิ่ว
ผลการตรวจที่ผิดปกติ
มีนิ่วในถุงน้ำดี (Gallstone) มีติ่งเนื้อ (Polyps) มีถุงน้ำดีอักเสบ (Cholecystitis) มีมะเร็งถุงน้ำดี (Gallbladder cancer) มีการอุดตันของท่อน้ำดี(Common bile duct obstruction)