ริดสีดวงทวารหนัก

ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoid) คือ ภาวะที่หลอดเลือดดำบริเวณปลายสุดของลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มีการโป่งพอง บวม และยื่นออกมา ซึ่งสามารถเป็นพร้อมกันหลายตำแหน่ง แบ่งได้ 2 ชนิดคือ

1. ริดสีดวงทวารหนักภายใน (Internal Hemorrhoid) อยู่ในตำแหน่งเหนือทวารหนักขึ้นไป โดยหลอดเลือดที่โป่งพองอาจจะไม่โผล่ออกมาให้เห็น และไม่สามารถคลำได้ หรืออาจมีขนาดใหญ่และสามารถคลำได้ หรือมีขนาดใหญ่จนต้องดันกลับเข้าไปในทวารหนักภายหลังการอุจจาระ

โรคริดสีดวงทวารหนักภายใน สามารถแบ่งได้เป็น 4 ระยะ

  • ระยะที่ 1 มีหัวริดสีดวง แต่ไม่ยื่นออกมาทางทวารหนัก อาจมีเลือดสด ๆ ขณะถ่ายหรือหลังถ่ายอุจจาระ
  • ระยะที่ 2 ริดสีดวงโผล่ออกมาขณะเบ่งถ่าย และเลื่อนกลับเข้าไปในทวารหนักได้เองหลังถ่ายอุจจาระ
  • ระยะที่ 3 ริดสีดวงยื่นโผล่ออกมาขณะเบ่งถ่าย และต้องใช้มือดันกลับเข้าไปในทวารหนัก
  • ระยะที่ 4 ริดสีดวงยื่นออกนอกทวารหนักตลอดเวลา อาจรู้สึกปวด

2. ริดสีดวงทวารหนักภายนอก (External Hemorrhoid) จะเกิดขึ้นบริเวณปากรอยย่นทวารหนัก จากการที่กลุ่มหลอดเลือดดำใต้ผิวหนังปากทวารหนักโป่งพอง สามารถมองเห็นและคลำได้ หากมีอาการอาจเกิดความเจ็บปวดได้ เพราะผิวหนังที่ปกคลุมมีปลายประสาทรับความรู้สึก

สาเหตุ ริดสีดวงทวาร

  1. ปัจจัยทางพันธุกรรม พบว่า ยีน FOXC2 gene บนโครโมโซมคู่ที่ 16 อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดของโรคและเส้นเลือดขอดที่ขา
  2. อาชีพ ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องยืนนาน ๆ จะมีผลให้ความดันเลือดในหลอดเลือดดำบริเวณปากทวารไหลกลับสู่หลอดเลือดดำในช่องท้องช้าลง โดยทั่วไปหลอดเลือดดำมีลิ้นเพื่อให้เลือดดำไหลกลับได้ทางเดียวแต่เมื่อการไหลของเลือดดำช้าลงประกอบกับมีความดันในช่องท้องสูงจึงเกิดการคั่งของหลอดเลือดดำบริเวณกลุ่มหลอดเลือดปากรูทวารหนักส่งผลให้กลุ่มหลอดเลือดดำโป่งพองจนเกิดอาการของโรค
  3. เกิดจากโรคแทรกซ้อนของโรคอื่น ๆ เช่น โรคตับแข็งหรือโรคตับอักเสบไวรัสบี ซึ่งจะมีอาการท้องมานในระยะสุดท้าย และเมื่อมีน้ำในช่องท้องมาก ๆ จะส่งผลไปกดการไหลเวียนเลือดในช่องท้องเป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดดำไหลกลับเข้าช่องท้องได้ไม่ดีนัก

ปัจจัยที่ทำให้เกิด ริดสีดวงทวารหนัก

  • ท้องผูกเรื้อรัง
  • ท้องเสียบ่อย
  • ถ่ายอุจจาระบ่อย
  • นั่งถ่ายอุจจาระนาน
  • เบ่งแรงขณะขับถ่าย
  • ใช้ยาระบาย ยาสวนอุจจาระบ่อยโดยไม่จำเป็น
  • อายุมาก กล้ามเนื้อหย่อนยาน
  • ตั้งครรภ์ ขับถ่ายไม่สะดวก
  • ไอเรื้อรัง
  • น้ำหนักมาก
  • ยกของหนัก ออกแรงมาก
  • โรคตับแข็ง ส่งผลถึงเส้นเลือดดำบริเวณทวารโป่งพอง
  • กรรมพันธุ์ มีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้

อาการ ริดสีดวงทวารหนัก

  • ถ่ายเป็นเลือด มีเลือดแดงสดหยดออกมา หรือพุ่งออกมาขณะเบ่งถ่าย หรือหลังถ่ายอุจจาระ อาจไม่มีอาการปวด หรือแสบทวารหนัก หรืออาจพบเลือดบนกระดาษชำระ เลือดที่ออกจะไม่ปนกับอุจจาระไม่มีมูกและมักหยุดได้เอง อาการเหล่านี้มักเป็น ๆ หาย ๆ
  • มีก้อนเนื้อนิ่ม ยื่นโผล่ออกมานอกทวารหนัก
  • ทวารหนักเปียกแฉะ คันรอบ ๆ ปากทวารหนัก
  • คลำพบก้อนที่บริเวณทวารหนัก
  • ปวดบริเวณทวารหนัก โดยเฉพาะเวลาถ่ายอุจจาระ

การรักษา ริดสีดวงทวารหนัก

การรักษาโรคริดสีดวงทวารหนักขึ้นอยู่กับอาการที่เป็น โดยสามารถแยกความรุนแรงของโรคได้เป็นระยะต่างกันคือ

  • ระยะที่ 1 รักษาโดยการรับประทานยาระบายอ่อนๆ ยาลดการบวมของกลุ่มหลอดเลือด และระวังไม่ให้ท้องผูกก็เพียงพอแล้ว
  • ระยะที่ 2 รักษาได้หลายวิธีเช่น
    1. ใช้ยาเหมือนการรักษาในระยะที่ 1 แล้วระวังไม่ให้ท้องผูก ก็มีอาการดีขึ้นได้ แต่ก็อาจมีอาการเป็นๆหายๆในบางราย
    2. ใช้ยางรัดหัวริดสีดวงทวารที่อยู่ภายใน หรือใช้ยาฉีดที่บริเวณหัวริดสีดวงทวาร วัตถุประสงค์เพื่อให้หัวริดสีดวงฝ่อลงไป
  • ระยะที่ 3 และ 4 รักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดรักษามี 2 วิธีคือ
    1. การผ่าตัดริดสีดวงทวารแบบเดิม
    2. การผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ (STAPLE  HEMORHOIDECTOMY)
[Total: 0 Average: 0]