กระดูกสะโพกหัก

เชื่อว่าหลายๆคนคงเคยได้ยินภาวะกระดูกสะโพกหักกันมาบ้าง ไม่ว่าจะจากประสบการณ์ตรงกับคนรู้จัก หรือจากแหล่งข้อมูลต่างๆ แต่ใครจะคิดว่าภาวะกระดูกสะโพกหักนั้นใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด โดยเฉพาะท่านที่เริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุหรือบ้านที่มีผู้สูงอายุอยู่ด้วย กระดูกสะโพกหักสามารถเกิดได้ทุกเมื่อและส่งผลกระทบร้ายแรงกว่าที่เราคิด ผู้สูงอายุที่มีกระดูกสะโพกหักนั้น มีอัตราการเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่าผู้ที่ไม่เคยมีกระดูกหัก และยังพบว่ามีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ อีกมากมายที่ทำให้เสียชีวิตได้อีกด้วย

สาเหตุ กระดูกสะโพกหัก

สาเหตุของกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ มักเกิดจากการหกล้ม ส่วนสาเหตุอื่นๆของกระดูกสะโพกหัก อาจเกิดจากอุบัติเหตุรถยนต์ เนื้องอก หรือมีการติดเชื้อที่กระดูก

อาการ กระดูกสะโพกหัก

-   ปวดที่สะโพกมาก
-   ลงน้ำหนักที่ขาหรือยืนไม่ได้
-   บริเวณสะโพกจะรู้สึกขัดๆ มีรอยฟกช้ำ และบวม
-   ขาข้างที่สะโพกหักจะสั้น ไม่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ขาจะหมุนเข้าหรือออก

การป้องกัน กระดูกสะโพกหัก

กระดูกสะโพกหักสามารถป้องกันได้ โดยการป้องกันภาวะพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ ซึ่งทำได้โดยการจัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้เหมาะสม เช่นการเพิ่มราวจับในทางเดินบ้านและห้องน้ำ เก็บของในบ้านให้เป็นระเบียบไม่กีดขวางทางเดิน ใส่ยางกันเลื่อนบริเวณที่เสี่ยงต่อการหกล้ม และปรับให้มีแสงสว่างเพียงพอ

การป้องกันกระดูกสะโพกหักอีกวิธีหนึ่งคือการป้องกันและรักษาภาวะกระดูกพรุน การได้รับสารอาหาร แคลเซียม และวิตามินดี อย่างเพียงพอ ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สามารถชะลอการลดลงของมวลกระดูกได้

การรักษา กระดูกสะโพกหัก

ในปัจจุบัน การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดนั้นให้ผลการรักษาที่ดีกว่าไม่ผ่าตัด เนื่องจากผู้ป่วยสามารถฟื้นตัว เคลื่อนไหว ลุกนั่งและสามารถฝึกเดินโดยใช้ไม้เท้าช่วยเดินได้หลังผ่าตัด จากการวิจัยพบว่าการผ่าตัดควรทำภายใน 72 ชั่วโมงหลังการบาดเจ็บ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการนอนติดเตียง เช่น แผลกดทับ ปอดติดเชื้อ หรือลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำที่ขา การผ่าตัดกระดูกสะโพกหักนั้นประกอบด้วยการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกและการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก ขึ้นกับตำแหน่งและลักษณะกระดูกหัก ถึงแม้การผ่าตัดในปัจจุบันจะให้ผลดี แต่ผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่เดิมเคยดูแลตัวเองได้ หลังกระดูกสะโพกหักอาจจำเป็นต้องมีคนใกล้ชิดหรือผู้ช่วยเหลือคอยดูแลและอาจต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเดินไปตลอด

[Total: 0 Average: 0]