โรคกระดูกบาง

โรคกระดูกบาง (Osteopenia) คือ โรคที่มวลกระดูกของร่างกายลดต่ำกว่าค่ามาตรฐานแต่ยังไม่ต่ำถึงค่าที่เป็นโรคกระดูกพรุน ดังนั้นค่ามวลกระดูกของโรคกระดูกบางจึงอยู่ในช่วง -1 ถึงน้อยกว่า -2.5 เอสดี

ซึ่งโรคกระดูกบางเมื่อปล่อยไว้โดยไม่รักษา จะมีการเสียมวลกระดูกเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นโรคกระดุกพรุน แต่ในบางคนเป็นโรคกระดูกพรุนได้โดยไม่ผ่านการเป็นโรคกระดูกบางก่อน

กระดูกบางพบได้บ่อยในผู้หญิงผิวขาวที่อายุมาก เช่นเดียวกับโรคกระดูกพรุน แต่ทุกคนก็สามารถเป็นโรคกระดูกบางได้เช่นกัน แม้ว่าผู้ที่มีโรคกระดูกพรุนจะมีความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหักมากกว่ากระดูกบาง แต่ผู้ป่วยส่วนมากที่มีการหักของกระดูกจากกระดูกพรุนมักมีค่า T-score อยู่ในช่วงของกระดูกบาง เนื่องจากมีผู้ป่วยที่เป็นกระดูกบางมากกว่ากระดูกพรุน

สาเหตุ โรคกระดูกบาง

ค่าความหนาแน่นของกระดูกจะมากที่สุดเมื่ออายุ 30 ปี หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดลง เนื่องจากร่างกายจะสลายกระดูกเร็วกว่าการสร้างกระดูกใหม่ ทำให้กระดูกจะอ่อนแอและบางลงเรื่อยๆ

ถ้าแคลเซียมถูกดึงออกจากกระดูกมากเกินไป จะทำให้เกิดภาวะกระดูกบางหรือกระดูกพรุนตามมาได้

อาการ โรคกระดูกบาง

ผู้ป่วยโรคกระดูกบางจะมีค่าความหนาแน่นของกระดูกที่น้อยกว่าปกติ โดยกระดูกของผู้ป่วยจะอ่อนแอกว่าคนทั่วไป แต่จะไม่แตกหักง่ายเท่ากับผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน และผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการผิดปกติหรืออาการเจ็บปวดใด ๆ ออกมา

การป้องกัน โรคกระดูกบาง

การป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกบาง สำหรับบุคคลทั่วไป โดยเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียมสูง หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลมและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ระมัดระวังในการใช้ยา โดยเฉพาะยากลุ่มสเตียรอยด์ที่ต้องใช้ติดต่อกัน เป็นเวลานาน และผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจความหนาแน่นของกระดูกเป็นประจำทุกปี

การรักษา โรคกระดูกบาง

การเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้ชีวิตอาจช่วยรักษาภาวะกระดูกบางได้ เช่น

  • รับประทานแคลเซียมและวิตามินตามปริมาณที่แนะนำ
  • เลิกสูบบุหรี่
  • จำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ที่รับประทาน
  • ออกกำลังกายทุกวัน
  • รับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ

นอกจากนั้น มีการใช้ยาหลายตัวที่อาจช่วยขะลอการสลายกระดูก ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนและกระดูกหักได้ เช่น

  • Forteo (teriparatide) เป็นฮอร์โมนรูปแบบสังเคราะห์ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างกระดูก
  • Selective estrogen-receptor modulators เช่น Evista (raloxifene) ซึ่งมีผลต่อกระดูกเช่นเดียวกับฮอร์โมน estrogen
  • Calcitonin ช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก
  • Bisphosphonates เช่น Fosamax (Alendronate) Boniva (ibandronate), Actonel (risedronic acid), และ Reclast (zoledronic acid) ซึ่งช่วยยับยั้งการกระบวนการสลายกระดูก

การใช้ฮอร์โมน estrogen ทดแทนอาจช่วยรักษาภาวะกระดูกบางได้เช่นกัน

[Total: 0 Average: 0]