หากพบผู้ป่วยที่มีอาการน่าสงสัย ควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
ในรายที่มีประวัติและอาการชัดเจน (เช่น ถูกสุนัข กัด และมีอาการกลัวลม กลัวน้ำ) แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น ยานอนหลับ ยาแก้ชัก และติดตามดูอาการจนกว่าผู้ป่วยจะเสียชีวิต
ในรายที่ยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ชัดเจน อาจต้องทำการตรวจพิเศษ เช่น การเจาะหลัง การตรวจหาเชื้อ พิษสุนัขบ้า และการตรวจหาระดับสารภูมิต้านทานโรคด้วยวิธีต่างๆ การถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นต้น และให้การดูแลรักษาอย่างเต็มที่ เช่นใช้เครื่องช่วยหายใจในรายที่หยุดหายใจ ให้น้ำเกลือและปรับดุลอิเล็กโทรไลต์ จนกว่าจะพิสูจน์พบสาเหตุได้แน่ชัด ก็จะให้การดูแลรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น
ผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงทั่วร่างกาย ในที่สุดอาจพบว่าเป็นกลุ่มอาการกิลเลนบาร์เรก็มีทางรักษาให้อาการดีขึ้นหรือรอดชีวิตได้
การรักษาผู้ที่สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า
เมื่อพบผู้ป่วยที่ถูกสัตว์ที่เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลีย ควรให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ให้การรักษาบาดแผล ถ้าผู้ป่วยยังไม่ได้ฟอกล้างบาดแผล หรือไม่มั่นใจว่าได้รับการปฐมพยาบาลมาอย่างดีแล้ว ให้ทำการฟอกล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่หลายๆ ครั้ง แล้วใส่ยาฆ่าเชื้อ ปิดแผลด้วยผ้าก๊อชไม่ควรเย็บแผล เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้ออักเสบเป็นหนองได้ (ถ้าจำเป็นต้องเย็บแผล ควรทำแผลให้ดีสักระยะหนึ่งก่อน ค่อยเย็บปิดในภายหลัง) ควรให้ยา ปฏิชีวนะ เช่น อีริโทรไมซิน ไซโพรฟล็อกซาซิน หรือโคอะม็อกซิคลาฟ และฉีดยากันบาดทะยักตามข้อบ่งชี้
2. พิจารณาความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และให้การดูแลรักษา เพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าดังนี้
ความเสี่ยงระดับที่ 1 ไม่ต้องฉีดวัคซีนและอิมมูนโกลบูลิน
ความเสี่ยงระดับที่ 2 หรือ 3 ให้พิจารณาสัตว์ที่ก่อเหตุ
ก. ถ้าเป็นสัตว์ป่า ค้างคาว หนู สัตว์หนีหายหรือสัตว์ตาย (และส่งสัตว์ตรวจพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า) ให้ฉีดยาป้องกันแก่ผู้สัมผัสโรคทันที
ข. ถ้าสุนัขหรือแมวมีอาการผิดปกติหรือป่วยให้ฉีดยาป้องกันแก่ผู้สัมผัสโรคทันที และควรนำสัตว์ส่งตรวจ
ค. ถ้าสุนัขหรือแมวมีอาการปกติดี ควรซักประวัติต่อไปนี้
- การเลี้ยงดูสัตว์อยู่ในรั่วรอบขอบชิด และมีโอกาสสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตว์ตัวอื่นน้อย
- สัตว์เลี้ยงได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องในช่อง 2 ปีที่ผ่านมา
- การกัดหรือข่วนเกิดจากมีเหตุโน้มนำเช่น แหย่สัตว์ เหยียบถูกสัตว์
ถ้าครบทั้ง 3 ข้อ ให้เฝ้าดูอาการของสัตว์ 10 วัน ถ้าครบ 10 วัน สัตว์ยังเป็นปกติ ให้ฉีดยาป้องกันแก่ผู้สัมผัสทันที และควรนำ
สัตว์ส่งตรวจ
ถ้าไม่ครบทั้ง 3 ข้อ ให้ฉีดยาป้องกันไปก่อนเลย และเฝ้าดูอาการสัตว์ 10 วัน เมื่อครบ 10 วัน ถ้าสัตว์ไม่ตายก็หยุดฉีดได้
ถ้าสัตว์ตายหรือหายไปก่อนครบกำหนด ผู้ป่วยต้องได้รับยาฉีดจนครบ