มะเร็งปากมดลูก คือ โรคมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุด ของมะเร็งในผู้หญิงไทย พบมากในช่วงอายุ 35-60 ปี แต่ก็อาจพบในคนอายุน้อย (เช่น 20 ปี) ก็ได้
ผู้ป่วยมักมีประวัติมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุต่ำกว่า 17 ปี มีคู่นอนหรือสามีหลายคน หรือมีสามีที่มีความสำส่อนทางเพศ เชื่อว่าทำให้มี่ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส เอชพีวี ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก
สาเหตุ มะเร็งปากมดลูก
ยังไม่ทราบแน่ชัด พบว่าประมาณร้อยละ 70 ของ ผู้ป่วยโรคนี้มีความสัมพันธ์กับการอักเสบเรื้อรังของปากมดลูกจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (human papilloma virus/HPV) ชนิด 16 และ 18 ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์กับชนิดที่ทำให้เกิดหูดและหงอนไก่ (ส่วนใหญ่จากเอชพีวีชนิด 6 และ11) โรคนี้ติดต่อทางเพศสัมพันธ์
อาการ มะเร็งปากมดลูก
ระยะแรกเริ่ม จะไม่มีอาการแสดง (สามารถตรวจพบโดยการตรวจแพ็ปสเมียร์) เมื่อมะเร็งลุกลามมากขึ้นจะพบว่ามีอาการเลือดออกจากช่องคลอด (บางรายเข้าใจว่ามีประจำเดือนออกมากหรือกะปริดกะปรอย) หรือ มีเลือดออกภายหลังการร่วมเพศ บางรายอาจมีอาการตกขาวมีกลิ่นเหม็น มีเลือดปน หรือตกขาวปริมาณมาก
ผู้ที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน อาจสังเกตว่าหลังจากหมดประจำเดือนไปนาน 6 เดือนหรือเป็นปี กลับมีประจำเดือนมาใหม่ แต่ออกมากและนานกว่าปกติ
ระยะหลังเมื่อมะเร็งลุกลามไปมากแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องน้อย ปวดหลัง ก้นกบ หรือต้นขา ปัสสาวะเป็นเลือด อุจาระเป็นเลือด ขาบวม เกิดภาวะไตวาย เนื่องจากทางเดินปัสสาวะอุดกั้นจากก้อนมะเร็ง
การป้องกัน มะเร็งปากมดลูก
อาจป้องกันโดยวิธีเหล่านี้
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เสรีหรือไม่ปลอดภัย ส่วนการใส่ถุงยางอนามัยอาจป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ ถ้ามีรอยโรคอยู่นอกบริเวณที่ถุงยางครอบคลุมได้
- ไม่สูบบุหรี่
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- กินผักและผลไม้ให้มากๆ
- ตรวจหามะเร็งปากมดลูกระยะแรก (แพ็ปสเมียร์) เป็นประจำ หากพบว่าเซลล์ปากมดลูกเริ่มมี ความผิดปกติในระยะก่อนเป็นมะเร็ง (precancerous)จะได้ให้การรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นมะเร็ง และหาก พบว่าเริ่มเป็นมะเร็งระยะแรก(ก่อนมีอาการ) ก็จะได้ให้การรักษาให้หาย ขาดได้
- ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี (HPV vaccinc) ซึ่งจะเริ่มฉีดให้เด็กหญิงตั้งแต่อายุ 9 ปี ขึ้นไป โดยฉีด 3 เข็ม เข็มที่ 2 และ 3 ห่างจากเข็มแรก 2 และ 6 เดือนตามลำดับ สามารถลดความเสี่ยงต่อการ เกิดมะเร็งปากมดลูกที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อเอชพีวี(พบประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้) ข้อเสีย คือวัคซีนยังมีราคาแพง และไม่สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ 100%
ผู้หญิงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหามะเร็งระยะแรกด้วยวิธีแพ็ปสเมียร์ ดังนี้
- ควรเริ่มตรวจตั้งแต่หลังแต่งงานหรือเริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้ 3 ปี หรือเมื่ออายุได้ 21 ปี
- ควรตรวจทุกปี ถ้าผลตรวจเป็นปกติติดต่อกัน 3 ครั้ง และเป็นผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง (เช่นได้ยาเคมี บำบัด มีการติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น)อาจจะเว้นระยะห่างของการตรวจเป็นทุก 2 – 3 ปี แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยง (เช่น ติดเชื้อเอชไอวี สูบบุหรี่ กินยาเม็ดคุมกำเนิด) ควรตรวจทุกปี
- ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป หากเคยมีผลการตรวจเป็นปกติติดต่อกันอย่างน้อย 3 ครั้ง (และไม่เคยมีผลการตรวจที่ผิดปกติเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี) ก็สามารถหยุดการตรวจแพ็ปสเมียร์ได้ แต่ถ้าเคย เป็นมะเร็งปากมดลูกมาก่อน หรือมีปัจจัยเสี่ยงก็ควรจะได้รับการตรวจต่อไปตราบเท่าที่ยังแข็งแรง
- ผู้หญิงที่เคยผ่าตัดมดลูกและปากมดลูกออกทั้งหมดโดยไม่มีสาเหตุจากมะเร็ง สามารถหยุดการ ตรวจแพ็ปสเมียร์ได้ แต่ถ้าผ่าตัดมดลูกเพียงบางส่วน และยังคงปากมดลูกไว้ก็ควรรับการตรวจแพ็ปสเมียร์ แบบผู้หญิงทั่วไปดังกล่าวข้างต้น
การรักษา มะเร็งปากมดลูก
แพทย์จะทำการวินิจฉัย โดยการขูดเซลล์เยื่อบุ ปากมดลูกนำไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ ดังที่เรียกว่า แพ็ปสเมียร์ (Pap smear) ทำการใช้กล้องตรวจปากมดลูก(colposscopy)แล้วตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์ ถ้าพบว่าเป็นมะเร็ง ก็จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัดอาจให้รังสีบำบัด (ฉายรังสี ใส่แร่เรเดียม) และ/หรือเคมีบำบัดร่วม ด้วย ทั้งนี้ขึ้นกับระยะของโรค
ผลการรักษา หากพบระยะแรกๆ การรักษามัก จะได้ผลดีหรือหายขาดได้เป็นส่วนใหญ่ มีอัตรารอดชีวิตเกิน 5 ปี ถึงร้อยละ 60 – 95 ถ้าพบระยะ 3 และ 4 การรักษาอาจช่วยให้มีอัตรารอดชีวิตเกิน 5 ปี ประมาณร้อยละ20 – 50