โรคถุงน้ำดีอักเสบ – นิ่วน้ำดี สาเหตุของการเกิดนิ่วน้ำดีขึ้นกับชนิดของนิ่ว
สำหรับนิ่วชนิดคอเลสเตอรอล และชนิดผสม ซึ่งมีคอเลสเตอรอลเป็นองค์ประกอบหลักร่วมกับหินปูน (แคลเชียม) กรดน้ำดี (bile acids) ฟอสโฟไลปิด (phos pholipids) และสารอื่นๆ เกิดจากมีสัดส่วนของคอเลสแตอรอลต่อกรดน้ำดีและ ฟอสโฟไลปิดสูงกว่าปกติ จึงตกตะกอนเป็นผลึกและกลายเป็นก้อนนิ่วในที่สุด
ทั้งนี้อาจเกิดจากมีการหลั่งคอเลสเตอรอลมาที่ถุงน้ำดีมากกว่าปกติ (เช่น ในคนอ้วน ผู้ที่กินอาหารที่มีไขมันหรือมีแคลอรีสูง ลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็วภายในเวลาสั้น ๆ หรือกินยาโคลไฟเบรตในการลดไขมันในเลือด) หรือมีการหลั่งกรดน้ำดีน้อยกว่าปกติ (เช่น ผู้ที่กินยาเม็ดคุมกำเนิดผู้ที่เป็นตับแข็งหรือโรคลำไส้เล็กส่วนปลาย) หรือเกิดขึ้นพร้อมกันทั้ง 2 อย่าง (เช่น ในผู้สูงอายุ ผู้ที่กินฮอร์โมนเอสโทรเจน) นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากปัจจัยเสริม เช่น ถุงน้ำดีมีการทำงานน้อย (hypomotility) จึงเกิดการสะสมของผลึกนิ่ว (เช่น ผู้ที่อดอาการหญิงตังครรภ์)
ส่วนนิ่วชนิดเม็ดสี ซึ่งมีแคลเซียมบิลิรูบิเนต (calcium bilirubinate) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญนั้น เกิดจากมี unconjugated bilirubin ในน้ำดีสูงเกินไป จึงตกผลึกเป็นก้อนนิ่วชนิดเม็ดสี หรืออาจจับตัวกับผลึกคอเลสเตอรอลกลายเป็นนิ่วชนิดผสม นิ่วชนิดนี้พบมากในผู้ที่มีภาวะเม็ดเลือดแดงแตกเรื้อรัง (เช่น ทาสัสซีเมีย) ผู้ป่วยตับแข็งจากการดื่มแอลกฮอล์ ผู้ที่มีการติดเชื้อของทางเดินน้ำดีเรื้อรัง หรือเป็นโรคพยาธิในทางเดินน้ำดีหรือพบในผู้สูงอายุ
ส่วนถุงน้ำดีอักเสบ มักเป็นภาวะแทรกซ้อนของนิ่วน้ำดี อาจเกิดเนื่องจากมีการอุดกั้นของท่อน้ำดี ทำให้ถุงน้ำดี มีแรงดันเพิ่มขึ้นและมีการยืดตัว ทำให้เยื่อบุผนังของถุงน้ำดีขาดเลือด เป็นผลให้เกิดการอักเสบ หรืออาจเกิดจากการระคายเคืองของสารเคมีบางชนิดอันเป็นผลมากจากปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นภายในถุงน้ำดี หรือเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเช่น อีโคไล เคล็บซิลลา สเตรปโตค็อกคัส สแตฟีค็อกคัส เป็นต้น
มีเพียงส่วนน้อยที่อาจไม่พบร่วมกับนิ่วน้ำดี แต่อาจพบในโรคอื่นๆ เช่น ไทฟอยด์ ตับอ่อนอักเสบความผิดปกติของทางเดินน้ำดี เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังอาจพบในผู้ป่วยหลังผ่าตัด ได้รับบาดเจ็บ มีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ภาวะโลหิตเป็นพิษ หรือเจ็บป่วยหนัก เป็นต้น