โรคลำไส้แปรปรวน หรือโรคไอบีเอส (IBS : Irritable Bowel Syndrome) เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งลำไส้ โดยที่ไม่พบความผิดปกติอะไรที่โครงสร้างของอวัยวะในระบบทางเดินอาหารและไม่มีพยาธิสภาพอื่นใด
มักพบมากในช่วงวัยรุ่นตอนปลายถึงช่วงประมาณอายุ 40 ปี โดยเฉพาะในผู้ป่วยเพศหญิง อาจไม่ทำให้เกิดอันตราย แต่จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยได้
สาเหตุ โรคลำไส้แปรปรวน
ในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอน แต่จากการศึกษาพบว่าปัจจัยที่เป็นสาเหตุของโรคนี้มี 3 อย่างที่สำคัญได้แก่
- การบีบตัวของลำไส้ใหญ่ผิดปกติ เป็นผลมาจากการหลั่งสารหรือฮอร์โมนที่ผิดปกติบางอย่างในผนังลำไส้ ทำให้เกิดอาการปวดแน่นท้อง ท้องผูก หรือท้องเสียได้
- ระบบประสาทที่ผนังลำไส้ไวต่อสิ่งเร้า หรือตัวกระตุ้นมากผิดปกติ ตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ ได้แก่ อาหารเผ็ด, กาแฟ, แอลกอฮอล์ทุกชนิด, ช็อกโกแลต เป็นต้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ได้แก่ ความเครียด ความวิตกกังกล เมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้นก็ทำให้ผนังลำไส้บีบตัวผิดปกติ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องผูก หรือท้องเสียได้
- เป็นผลหลังมีการติดเชื้อในลำไส้ ปัจจัยนี้พบในผู้ป่วย IBS ในเขตร้อน เช่น ประเทศไทย ซึ่งหลังจากทุเลาจากภาวะลำไส้อักเสบแล้ว หนึ่งในสามของผู้ป่วยจะมีอาการของลำไส้แปรปรวนกำเริบ
อาการ โรคลำไส้แปรปรวน
ในผู้ที่ป่วยลำไส้แปรปรวนจะมีอาการ
- ไม่สบายท้อง
- แน่นท้อง
- ท้องอืด
- ท้องเฟ้อ
- มีแก๊สในท้องมาก
- ปวดท้องมากหลังรับประทานอาหาร
และอาการจะดีขึ้นหลังการขับถ่าย ท้องผูก ท้องเสีย ท้องผูกสลับกับท้องเสีย อุจจาระแข็งหรือนิ่มกว่าปกติ อุจจาระไม่สุด อุจจาระมีเมือกใสหรือสีขาวปนออกมา อั้นอุจจาระไม่อยู่ หรืออาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หมดแรง ปวดหลัง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรืออาจรู้สึกเจ็บที่อวัยวะเพศขณะมีเพศสัมพันธ์ในผู้ป่วยที่เป็นเพศหญิง เป็นต้น
การรักษา โรคลำไส้แปรปรวน
โดยหากมีอาการไม่มาก แพทย์จะทำการรักษาด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไข้ เช่นการรับประทานอาหารสด สะอาดครบหมวดหมู่ไม่อิ่มจนเกินไป รับประทานอาหารที่มีใยอาหาร ไม่ทานอาหารรสเผ็ด เปรี้ยว เพราะร่างกายจะทำงานหนักทำให้ปรับสมดุลไม่ทัน และควรหลีกเลี่ยงอาหารมัน อาหารที่ทำให้แก๊สในลำไส้เยอะ เช่น หอมหรือกระเทียม ของดอง กาแฟ น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์ กะหล่ำปลีเพราะอาหารจำพวกนี้จะกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้นได้ เนื่องจากมีใยอาหารและแป้งมากทำให้ลำไส้ดูดซึมไม่หมด จึงเหลือตกค้างในลำไส้ใหญ่ทำให้เกิดการหมักหมมจนเกิดก๊าซ นอกจากนั้นควรหาเวลาพักผ่อนจิตใจ ดูหนัง ฟังเพลง ออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย สบายๆกับการใช้ชีวิตและควรหลีกเลี่ยงยาที่ระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการปวดท้อง อืดแน่นท้อง และอย่าเครียดวิตกกังวลคิดมากเพราะจะทำให้ลำไส้บีบตัวผิดปกติได้
แต่หากเกิดอาการมากจนถึงขั้นรุนแรง คนไข้ที่มีอาการท้องเสีย ท้องผูก หรือท้องเสียสลับท้องผูก และแบบที่อาการไม่ชัดเจน แพทย์จะใช้ยาในการรักษา เช่น หากคนไข้ที่มีอาการปวดท้องแพทย์จะให้ยาลดอาการปวดเกร็งได้ และมีกลุ่มยาที่รักษาอาการท้องเสีย ลดความถี่ในการถ่ายอุจจาระ ทำให้อุจจาระดีขึ้น นอกจากนี้ยังมียาปฏิชีวนะลดอาการติดเชื้อ บรรเทาอาการท้องอืด อุจจาระเหลว ส่วนรายที่ท้องผูกแพทย์จะเลือกใช้ยาเพิ่มใยอาหารในลำไส้ ซึ่งจะทำให้การบีบตัวของลำไส้ลดลง ลดอาการปวดได้ และให้ยาเพิ่มน้ำในลำไส้ เพื่อให้อุจจาระนิ่มลง โดยยาที่ได้ผลกับคนไข้คนหนึ่ง อาจไม่ได้ผลกับคนไข้อีกคนหนึ่ง ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการที่พบเจอ ซึ่งควรใช้ยาตามคำแนะนำแพทย์